ช่วงหลังๆมีคำถามนี้ถามมาบ่อยขึ้นครับ โดยเฉพาะจากน้องๆหมอว่า หมอด้าน Travel Medicine เขาทำงานอะไรกัน มีความพิเศษ แตกต่างจากหมอทั่วไปตรงไหน ทำไมต้องมาเรียน resident ตั้ง 3 ปี มีองค์ความรู้อะไรให้เรียนนักหนา วันนี้จะลองมาเล่าและขยายความให้ฟังครับ เผื่อจะได้เห็นภาพหมอด้านนี้มากขึ้น

  1. ถ้ามองจากคนภายนอก หลายคนคิดว่า Travel Medicine เป็นศาสตร์ที่ง่ายๆ ไม่ยาก รู้เรื่องวัคซีนนิดๆหน่อยๆ ก็น่าจะพอ เพราะใครๆก็น่าจะตรวจนักท่องเที่ยวได้ เผลอๆตัวเองก็ตรวจฝรั่ง หรือตรวจนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ก็น่าจะนับว่าทำงานด้าน Travel Medicine อยู่แล้วไม่ใช่หรือ จริงๆก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ การตรวจฝรั่งหรือคนต่างชาติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เราเป็น Travel Medicine doctor เราแค่ใช้วิชาแพทย์พื้นฐานในการตรวจรักษาโรคทั่วไป เพียงแต่กลุ่มคนไข้เราเป็นชาวต่างชาติเท่านั้น
  2. ถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นหมอ Travel Medicine ทำงานอะไร ไม่เหมือนหมอด้านอื่นตรงๆไหน ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ในมุมของ Travel Medicine เราแบ่งการดูแลนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ การให้ดูแลนักท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง หรีือ เรียกว่า Pre-travel counselling และการให้การดูแลนักท่องเที่ยวหลังการเดินทาง หรือ เรียกว่า Post-travel care
  3. ลองมาดูส่วนแรกกันก่อนครับ คือการดูแลนักท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง หลักๆเป็นการให้คำแนะนำในการป้องกันโรคและปัญหาสุขภาพ คือนักท่องเที่ยวสบายดี แต่ก่อนจะเดินทาง เข้ามาปรึกษาหมอที่ Travel Clinic แล้วถามว่าควรเตรียมตัวอย่างไร 
    • ลองนึกภาพตามนะครับ ถ้าหมอๆอย่างพวกเรา มีนักท่องเที่ยวคนไทย เดินเข้ามาถามว่า คุณหมอครับ ผมอยากไปเที่ยวเกาะ Madagascar อยากไปดูต้น Baobab ตามรูปด้านล่าง ผมควรจะเตรียมตัวอย่างไรดี ต้องฉีดวัคซีนอะไรไหมครับ

    • ถ้าเป็นคุณหมอ คุณหมอจะตอบอย่างไรดีครับ ถ้าใครไม่คุ้นเคยคงจะอึ้งไปสักพักใช่ไหมครับ จะตอบอย่างไรดีหนา Madagascar มันอยู่ที่ไหนนะ และตรงนั้นมันมีโรคอะไร ต้องฉีดวัคซีนอะไรหรือเปล่านะ ถ้าหมอเราๆไม่รู้จะทำอย่างไรดีครับ นักท่องเที่ยวมานั่งต่อหน้าแล้ว หลายคนคงหาทางเปิดหนังสือ หรือ search internet ซึ่งจริงๆเป็นส่งที่ควรทำครับ แต่ถ้าใครไม่มีประสบการณ์มาก่อน ถึง search ไป ก็ใช่จะเจอข้อมูลที่เราต้องการ และเราก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าเราควรจะตอบนักท่องเที่ยวอย่างไร  
    • ถ้าเป็นหมอที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วระดับหนึ่ง เช่น Resident Travel Medicine ปี 2 ควรจะสามารถทำได้ดีแล้วครับ เขาต้องนึกออกเลยว่า Madagascar อยู่ตรงไหนของโลก ที่นั่นมีโรคประจำถิ่นอะไรบ้าง อย่างน้อยต้องรู้ว่าตรงนั้นไม่มีโรคไข้เหลือง แต่ยังมีมาลาเรียอยู่ เพราะเขาจะรู้ว่านักท่องเที่ยวมาถามแบบนี้ ต้องมีหลักในการ approach อย่างไร ต้องเริ่มซักประวัติ เก็บข้อมูลตรงไหน เช่นต้องเริ่มเลยว่า จะไปเมื่อไร ไปทำอะไรที่ Madagascar ไปกี่คน เที่ยวแบบไหนบ้าง มีโรคประจำตัวไหม ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้จะเอามาช่วยประเมินความเสี่ยงในการเดินทาง และถ้าเรารู้ว่านักท่องเที่ยวเสี่ยงอะไรแล้ว จะได้ให้คำแนะนำได้ถูกต้อง
    • ดังนั้น Travel Medicine จึงไม่มีสูตรตายตัวครับว่า จะไป Madagascar ต้องฉีดวัคซีน 1,2,3 ตาม list นี้ แต่หมอต้องประเมินความเสี่ยงและให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล และจริงๆไม่ได้เฉพาะเรื่องวัคซีนครับ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าประเทศ Madagascar ตรงนั้นมีความเสี่ยงของโรคมาลาเรียด้วย ทีนี้ควรจะแนะนำอย่างไรดีล่ะ มีวัคซีนไหม หรือมียา prophylaxis ไหม เหล่านี้เป็นสิ่งที่แพทย์ด้าน Travel Medicine จะต้องตอบได้ (และทันทีด้วย โดยไม่ต้องเปิดหนังสือ)
  1. สถานการณ์ข้างต้น แม้ว่าเป็นเหตุการณ์สมมุติ แต่ในชีวิตจริงที่คลินิกนักท่องเที่ยว อย่างน้อยที่เขตร้อน ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเดินเข้ามาพบหมอ และถามเลยจะไปที่นั่นที่นี่ทำอย่างไรดี อย่าลืมนะครับว่า ปัจจุบันโลกเราเล็กลง ข้อมูลข่าวสารมีมาก นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะหาข้อมูลมาก่อน เช่นในเหตุการณ์สมมุตินั้น เขาอาจจะถามหมอด้วยซ้ำว่าผมกลัวกาฬโรคที่ Madagascar เห็นว่าระบาดอยู๋ ควรจะทำอย่างไรดีครับหมอ ถ้าหมอที่ให้การดูแลนักท่องเที่ยวอยู่ไม่รู้ หรือไม่ได้ติดตามข่าว ก็ลำบาก หมอๆเราก็ควรจะมีความรู้และตอบให้ได้ครับ 
  2. งานอีกด้านของหมอ Travel Medicine คือการดูแลรักษานักท่องเที่ยวหลังการเดินทาง ตรงนี้พวกเราหลายคนอาจจะคุ้นมากขึ้น เพราะเป็นประเด็นด้าน Medicine ซึ่งเน้นการรักษา อย่างไรก็ตามหมอที่ทำงานด้าน Travel Medicine ต้องมีองค์ความรู้ที่กว้าง ต้องรู้ข้อมูลด้านระบาดวิทยาของโรคต่างๆทั่วโลก และต้องรู้วิธี approach ปัญหาสุขภาพสำคัญๆต่างของนักท่องเที่ยว เช่น
    • มีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเดินเข้ามาปรึกษาท่าน แล้วบอกว่า คุณหมอครับ ผมเพิ่งกลับจากเซเนกัล เพิ่งกลับมาได้แค่ 3 วัน พอดีมีไข้ขึ้น ผมจะเป็นโรคอะไรครับ
    • ตรงนี้หมอที่ดูแลนักท่องเที่ยวต้องใช้วิชาแพทย์ทั่วไปที่เราเรียนมา ตั้งแต่อาการวิทยา การซักประวัติ และตรวจร่างกายที่ดี ในการหาว่านักท่องเที่ยวรายนี้น่าจะมีไข้จากสาเหตุอะไร และให้การรักษาไปตามนั้น
    • ความพิเศษของคนไข้รายนี้อยู่ที่ เขามีประวัติเดินทางเพิ่งไปเซเนกัลกลับมา จะเป็นโรคอะไรจากเซเนกัลหรือเปล่า? หมอควรถามตัวเองเช่นนี้เสมอ โดยเฉพาะถ้าได้ประวัติการเดินทาง หลังจากนั้นหมอต้องคิดต่อว่า ประเทศนั้นอยู่ตรงไหนนะ ตรงนั้นมีโรคอะไรบ้าง ตอนนี้มีอะไรระบาดอยู่ มีไข้เหลืองหรือเปล่า หรือยังมีโรคอีโบลาอยู่ หรือจะเป็น African tick bite fever ได้ไหม แล้ว Katayama fever ล่ะ เป็นได้ไหม ฯลฯ ตรงนี้หมอทั่วไปอาจจะไม่แน่ใจ หรือนึกไม่ออกว่าควรจะถามคำถามอะไรต่อ และจะแยกโรคได้อย่างไร ซึ่งก็ไม่แปลกครับ เพราะการเรียนแพทย์ของเราไม่ได้เน้นโรคที่ไม่มีในประเทศไทย แต่ทักษะตรงนี้เองเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญของแพทย์ด้าน Travel Medicine ซึ่งต้องรู้วิธี approach ต้องให้ differential diagnosis ได้เป็นอย่างดี
  3. ถ้าใครยังไม่ได้ลองทดสอบความรู้ด้าน Travel Medicine ด้วยตัวเอง แนะนำให้ลองเข้าไปทำดูครับ ส่วนใหญ่เป็นข้อสอบที่ใช้สอบแพทย์ประจำบ้าน Travel medicine ทำได้/ไม่ได้ไม่เป็นไรครับ อย่างน้อยจะพอนึกออกว่า หมอ Travel Medicine เขาควรจะรู้อะไรบ้าง
  4. จริงๆแล้วใน scope ของ Travel Medicine นอกจากการดูแลนักท่องเที่ยวแต่ละบุคคลแล้ว ยังมีเนื้อหา และประเด็นบางอย่างที่เกี่ยวกับ การควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ การเฝ้าระวัง การควบคุมและสอบสวนโรค ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะของแพทย์สาขานี้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้
  5. ถึงตรงนี้ เชื่อว่า พวกเราหลายคนคงพอจะนึกออกแล้วใช่ไหมครับว่า หมอด้าน Travel Medicine ทำงานอะไร มีความเชี่ยวชาญหรือเฉพาะทางตรงไหน ไว้บทความต่อๆไปจะมีตัวอย่างให้ดูครับว่า หมอด้าน Travel Medicine เวลาให้คำปรึกษานักท่องเที่ยว เราพูดคุยหรือให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง  

1 Comment

Leave a Comment:

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Post comment