จากความเดิมตอนที่แล้ว หลายคนคงพอเห็นภาพนะครับว่าหมอด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ทำงานอย่างไร และมีความพิเศษตรงไหน วันนี้จะลองมาฉายภาพการทำงานจริงๆของหมอด้านนี้ให้ดูครับ ผ่านสถานการณ์สมมุติใน Travel Clinic ดังนี้ (ถ้าใครไม่คุ้นหรือไม่เคยอ่านเรื่อง High altitude sickness แนะนำให้อ่านข้อมูลเบื้องต้นก่อนครับ จะได้เข้าใจมากขึ้น)

          คุณสมชาย สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่แพ้ยา ได้มาพบท่านที่คลินิก เพื่อขอคำปรึกษาก่อนการเดินทางไปเที่ยวประเทศเปรูกับภรรยา ท่านจะทำอย่างไร

 

 

หมายเหตุ ในกรณีตัวอย่างนี้ จะเน้นเฉพาะเรื่องการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคแพ้พื้นที่สูงเท่านั้น แต่ในเวชปฏิบัติในชีวิตจริงแล้ว แพทย์จำเป็นต้องใส่ใจและให้คำปรึกษาก่อนการเดินทางอย่างครอบคลุม โดยเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพ และประวัติการเดินทางโดยละเอียด และต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมในการเดินทางครั้งนี้ ตั้งแต่เรื่องวัคซีนไข้เหลือง และวัคซีนที่แนะนำอื่นๆเกี่ยวกับไปเที่ยวครั้งนี้ และยังต้องแนะนำเรื่องการป้องกันโรคมาลาเรีย โรคติดต่อและโรคไม่ติดต่ออื่นๆด้วย

 

คุณสมชาย: คุณหมอครับ ผมกับแฟนจะไปเที่ยวเปรูกันเดือนหน้า คิดว่าจะไปสัก 10 วัน แต่ทราบคร่าวๆมาว่า ถ้าไปแถวนั้น โดยเฉพาะถ้าไปมาชูปิกชู มันจะสูงมาก เลยอยากมาคำแนะนำครับว่าต้องทำอย่างไรดี เห็นว่าสามารถกินยาป้องกันได้ ต้องกินไหมครับ

หมอผจญ: หมอขอถามรายละเอียดการเดินทางซักนิดก่อนนะครับ เพราะคำถามนี้คงไม่ได้ตอบง่ายๆว่าควรจะกินหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับหลายๆอย่าง คุณสมชายลองเล่าแผนการเดินทางคร่าวๆให้ฟังได้ไหมครับ

คุณสมชาย ผมจะไปกับภรรยา 2 คน นั่งเครื่องจากกรุงเทพฯ ไปเปลี่ยนเครื่องที่ยุโรป แล้วบินตรงไปที่เมืองลิมาก่อนครับ คิดว่าจะเที่ยวลิมาประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นจะไปเที่ยวเมืองคุซโก และมาชูปิกชูต่ออีก 5 วัน แล้วก็บินกลับลิมา แล้วบินต่อกลับกรุงเทพเลยครับ ไม่ได้ไปเที่ยวประเทศข้างเคียงเลย ไม่ว่าจะเป็นบราซิล โบลิเวีย เสียดายเหมือนกันครับ แต่ลางานได้แค่นั้น

หมอผจญ: คุณสมชายจะเดินทางไปเมืองคุซโก และมาชูปิกชูโดยวิธีไหนครับ

 

หมายเหตุ  คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ ซึ่งจะส่งผลในการให้คำแนะนำเรื่องการป้องกัน แพทย์ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความรู้บางอย่างก่อน กล่าวคือ

  • นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวมาชูปิกชู ส่วนใหญ่จะนั่งเครื่องบินมาลงที่เมืองลิมา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเปรู เมืองนี้อยู่ระดับน้ำทะเล การไปเที่ยวมาชูปิกชู จะต้องเริ่มต้นที่เมืองคุซโก (สูง 3,400 เมตร) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองลิม่าประมาณ 1,200 กิโลเมตร ตรงนี้นักท่องเที่ยวมีทางเลือก 2 อย่างคือเดินทางโดยรถบัส ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางมาก ประมาณ 24 ชั่วโมง เนื่องจากต้องเดินทางไต่ไปตามเทือกเขา กับอีกทางเลือกหนึ่งคือ เดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งจะใช้เวลาบินจากเมืองลิม่า ไปถึงคุซโกเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ถ้าเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน ร่างกายจะมีเวลาปรับตัวน้อยมาก เพราะในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนความสูงถึง 3,400 เมตร เกิดอาการของ Acute mountain sickness ได้ง่าย และบ่อยกว่าการเดินทางโดยรถบัส ซึ่งมีเวลาปรับตัวมากกว่า โดยเฉพาะถ้านักท่องเที่ยวเลือกแวะเมืองที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก่อนเดินทางไปเมืองคุซโก เช่นเมือง Ayacucho (2,981 เมตร) หรือเมือง Arequipa (2,335 เมตร)

 

คุณสมชาย นั่งเครื่องบินไปครับจากลิมาไปคุซโก และเที่ยวในคุซโกก่อน และนอนที่คุซโก 1 คืนแล้วนั่งรถไฟไปเที่ยวมาชูปิกชูครับ

หมอผจญ: คุณสมชายเคยไปในพื้นที่สูงๆมาก่อนไหมครับ เช่นทิเบต เนปาล ฯลฯ

คุณสมชาย ไม่เคยครับ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ขึ้นไปที่สูงขนาดนั้น เลยชักกังวลเหมือนกัน

หมอผจญ: คืออย่างนี้ครับ ใน Trip นี้คุณสมชายมีความเสี่ยงพอสมควรเรื่องการแพ้พื้นที่สูง เนื่องจากมีการเปลี่ยนระดับความสูงอย่างรวดเร็ว จากระดับน้ำทะเลที่เมืองลิมา นั่งเครื่องบินเพียงชั่วโมงเดียวมาที่เมืองคุซโก ซึ่งมีความสูงกว่า 3,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตรงนั้นจะมีออกซิเจนต่ำกว่าพื้นราบ อย่างแรกเลยต้องบอกว่าเมื่อไปถึงเมืองคุซโกแล้ว ใจเย็นๆนิดหนึ่งนะครับ อย่าเที่ยวหักโหมมาก จริงๆถ้าเป็นไปได้เรามักจะแนะนำให้พักก่อนในวันแรกที่ไปถึง ร่างกายจะได้ปรับตัวได้ แต่ในชีวิตจริงคุณสมชายก็คงไม่ได้ทำอย่างนั้นใช่ไหมครับ ยิ่งมีเวลาน้อย เราไปถึงคงจะรีบไปเที่ยวเลย

คุณสมชาย ใช่ครับ เครื่องบินไปถึงประมาณ 10 โมงเช้า ผมก็ให้บ.ทัวร์ที่ติดต่อไว้มารับ ไปเที่ยวในเมืองคุซโกเลย คิดว่าเที่ยวเมืองทั้งวัน ไปดูพิพิธภัณฑ์ โบสถ์ และไปที่ Sacsayhuaman แล้วเข้ามาพักผ่อนตอนเย็นแทน

หมอผจญ: หมอไม่รู้ว่าจะพอเปลี่ยนแผนการเดินทางได้ไหม เพราะแผนนี้ค่อนข้างเสี่ยง คุณสมชายและภรรยาอาจมีอาการ Acute mountain sickness หรือเรียกง่ายๆว่า AMS ได้ เช่นมีอาการปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย เนื่องจากจะไม่ค่อยได้พักและปรับตัวเท่าไร มาถึงที่ 3,400 เมตร ก็เที่ยวเลย และจริงๆบางจุดในละแวกเมืองCuzco จะสูงกว่านั้นอีก เช่นตรง Sacsayhuaman จะสูงถึง 3,700 เมตร อีกอย่างตอนกลางคืนคุณสมชายยังกลับมานอนที่เมืองคุซโก (Sleeping altitude 3,400 เมตร)

          ถ้าเป็นไปได้ หมอจะแนะนำอย่างนี้ครับ คือเมื่อมาถึงเมืองคุซโกแล้ว ลงไปเที่ยวแถวๆ Pisac market, Sacred valley หรือ Urubamba (2,900 เมตร) ก่อนจะดีกว่า และนอนคืนแรกแถวๆ 2,900-3,000 เมตร จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอาการลดลง และทำให้ร่างกายปรับตัวได้ง่ายขึ้น และในวันถัดๆไปค่อยเดินทางกลับมาเที่ยวคุซโก หรือจะไปเที่ยวมาชูปิชู ซึ่งอยู่ที่ความสูง 2,400 เมตร ต่อก็ได้ ลองดูแผนที่นี้สิครับจะได้เข้าใจง่ายขึ้น เห็นคุซโกไหมครับ อยู่มุมด้านซ้ายของภาพ เมืองนี้อยู่สูงถึง 3,400 เมตร แต่มาชูปิกชูอยู่ด้านซ้ายบน

 

แสดงเส้นทางเดินทางจากเมือง Cuzo ไปยังมาชูปิกชู

 

คุณสมชาย (ดูแผนที่สักครู่)  อ๋อ หรือครับ จริงด้วย ผมไม่รู้มาก่อนเลย คิดว่ามาชูปิกชูอยู่สูงที่สุด เห็นในรูปเป็นภูเขา ไม่รู้ว่าจริงๆเมืองคุซโกอยู่สูงกว่าอีกต่างหาก ผมจะลองติดต่อบริษัททัวร์นะครับว่าจะเปลี่ยนแผนได้ไหม ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ จะทำอย่างไรดีครับคุณหมอ 

หมอผจญ: ถ้าเปลี่ยนแผนไม่ได้ วันแรกมาที่เมืองคุซโก จำเป็นต้องเที่ยวและนอนที่เมืองคุซโก ก็ต้องระวังนิดหนึ่งครับ อย่าหักโหม และดูสภาพร่างกายตัวเองด้วย อาการของโรคแพ้พื้นที่สูงในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนแทบจะไม่มีอาการใดเลยก็ได้ แต่บางคนจะมีอาการรุนแรงมาก ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการตัวเองรวมถึงเพื่อนร่วมเดินทางให้ดีครับ ถ้าอาการไม่มาก อาจจะแค่พัก กินยา paracetamol บ้าง ก็หาย พอปรับตัวได้ก็สามารถเดินทางต่อได้ แต่ถ้ามีอาการมาก หรือมีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อย ไอ ปวดศีรษะมาก เดินเซ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรหาความช่วยเหลือทันที

โดยเฉพาะคืนแรกสำคัญครับ ส่วนหนึ่งของนักท่องเที่ยวจะมีอาการตอนกลางคืน นอนไปแล้วจะปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รู้สึกไม่สบาย ถ้าอาการรุนแรงให้ขอความช่วยเหลือทันทีครับ ส่วนใหญ่ของไกด์และพนักงานโรงแรมที่คุซโกจะรู้จักภาวะ AMS ดีพอสมควรเนื่องจากพบปัญหานี้ในนักท่องเที่ยวบ่อย และที่โรงแรมในคุซโกมักจะมีออกซิเจนเตรียมไว้เผื่อบริการ เมื่อนักท่องเที่ยวเกิดปัญหาสามารถเรียกใช้ได้  แต่ถ้ามีอาการมาก โรงแรมมักจะมีระบบติดต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป

คุณสมชาย เข้าใจครับคุณหมอ แล้วควรกินยาป้องกันไหมครับ

หมอผจญ: โดยปกติใน Trip แบบนี้ ที่ขึ้นพื้นที่สูงเร็วๆแบบนี้ เรามักจะแนะนำให้กินยาเพื่อป้องกันครับ โดยยาที่แนะนำคือยา Acetazolamide ยานี้มีชื่อการค้าว่า Diamox® ยานี้จะช่วยป้องกัน และลดอาการของ AMS ได้ครับ โดยควรเริ่มกิน 24-48 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่องบินไปคุซโก หมอแนะนำให้กินขนาดต่ำครับคือ 125 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยยาที่นี่หนึ่งเม็ด เป็นขนาด 250 มิลลิกรัม ดังนั้นกินแค่ครึ่งเม็ดเช้าเย็นก็พอ อย่าลืมนะครับกินก่อนขึ้นเครื่องไปคุซโกอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งก็คือกินที่เมืองลิมา และตามทฤษฎีคือกินไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สูงที่สุด แล้วกินต่อสัก 24-48 ชั่วโมง

          เมื่อกินยานี้แล้ว บางคนอาจมีความรู้สึกแปร่งๆที่ลิ้น โดยเฉพาะเวลากินน้ำอัดลม หรือที่เรียกว่า Metallic taste ซึ่งไม่ต้องกังวลครับ เป็นผลข้างเคียงของยาที่ไม่รุนแรง ไม่ต้องหยุดยา ผลข้างเคียงอีกอย่างที่พบบ่อยคือการรู้สึกชาปลายมือปลายเท้า อาการนี้ไม่อันตราย อาจรู้สึกรำคาญ และอาการจะหายไปเองเมื่อหยุดกินยา แต่ถ้ากินยาแล้วมีการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น เจ็บปาก เจ็บตา มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติมากให้หยุดยาครับ จริงๆยานี้ค่อนข้างปลอดภัย เราไม่ค่อยเห็นการแพ้ยาบ่อยนัก 

 

คุณสมชาย ขอบคุณมากครับ ผมคงจะกินยาตามที่คุณหมอว่า แต่ผมเคยอ่านมาครับว่า ที่คุซโก เขาจะให้กินชาโคคา (Coca tea) และจะทำให้ไม่มีอาการแพ้ที่สูง จริงไหมครับ และควรกินไหมครับ 

หมอผจญ: คนพื้นที่แถวนั้นเขาเชื่อครับว่าจะช่วยว่าใบโคคามีสรรพคุณช่วยลดอาการได้ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของเขา แต่สรรพคุณนี้ยังไม่มีงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับครับ อย่างไรก็ตามถ้าคุณสมชายและภรรยาอยากจะลองกินก็คงไม่มีข้อห้ามอะไร ระวังไว้นิดนะครับว่า ใบโคคา หรือชาโคคาพวกนี้เป็นของผิดกฎหมายของหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากใบโคคาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิดโคเคนได้ ดังนั้นห้ามนำใบโคคา หรือชาพวกนี้ออกนอกประเทศเปรูนะครับ อีกอย่างที่สำคัญคือ เมื่อเรากินใบโคคา หรือดื่มชาโคคาแล้ว ร่างกายจะขับสารพวกนี้ออกทางปัสสาวะ ดังนั้นถ้าถูกสุ่มตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด ผลปัสสาวะของเราอาจจะแสดงผลบวกได้ เคยมีรายงานว่าผลปัสสาวะบวกได้นานถึง 36 ชั่วโมง ต้องระวังไว้ด้วยนะครับ 

คุณสมชาย ขอบคุณครับสำหรับคำแนะนำ น่ากลัวเหมือนกันนะครับ จะต้องไม่เผลอซื้อและเอาชาโคคาออกนอกประเทศ รบกวนถามต่ออีกนิดนะครับ พอดี Trip นี้ ผมและภรรยาไม่ได้เดิน Inca Trail แต่เห็นมีเพื่อนๆอีกกลุ่มกำลังจะไปเปรู และว่าจะไป Inca trail gหมือนกัน ถ้าไปเดินแบบนี้มีอะไรต้องระวังเพิ่มเติมไหมครับ 

หมอผจญ: ถ้าจะเดิน Inca trail ตามเส้นทางมาตรฐานใช้เวลา 4 วัน 3 คืนครับ โดยต้องนั่งรถไฟมาลงที่กิโลเมตรที่ 82 แล้วเดินต่อไป การเดินต้องเตรียมตัวอย่างดีครับ เพราะต้องนอนในเต้นท์ 3 คืน และเส้นทางนี้จะผ่านที่ระดับความสูงต่างๆกัน ที่สูงที่สุดจะอยู่แถวๆ 4,200 เมตรครับ ลองดูแผนที่นี้ครับ ดังนั้นใน Trip แบบนี้แนะนำให้เตรียมร่างกายล่วงหน้า ต้องแข็งแรงพอสมควร

 

แสงระดับความสูงของพื้นที่่ต่างๆ ในการเดิน Inca Trail

 

และการเดิน Inca trail นี้ต้องมีไกด์/ลูกหาบไปด้วย ไม่สามารถไปโดยลำพังครับ ต้องติดต่อบริษัททัวร์ล่วงหน้า ควรเลือกบริษัททัวร์ที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ เราสามารถจ้างลูกหาบช่วยเราได้ตามที่เราต้องการ จริงๆแล้วนักท่องเที่ยวสามารถจ้างลูกหาบให้แบกถังออกซิเจนติดตัวไปด้วยก็ยังได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ปลอดภัยมากขึ้น (แต่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม)

 

คุณสมชาย ขอบคุณมากครับ สำหรับคำแนะนำ วันนี้ผมได้ความรู้จากคุณหมอมากเลย 

หมอผจญ: ยินดีครับ ยังไงลองไปอ่านหาข้อมูลทบทวนเรื่องโรคแพ้พื้นที่สูงดูนะครับ ดูใน website ของคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนก็ได้ มีข้อมูลเรื่องนี้อยู่พอสมควร จะได้เข้าใจมากขึ้น หรือจะดูใน website อื่นก็ได้ เพราะปัจจุบันมีข้อมูลในอินเทอร์เนตมากพอสมควร แต่ต้องเลือก websiteที่เชื่อถือได้นะครับ

 

หมายเหตุ

  1. การให้คำปรึกษาก่อนการเดินทางไปยังพื้นที่สูงนั้นมีความหลากหลายมาก แพทย์ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความรู้กว้างขวาง และมีประสบการณ์พอสมควร เนื่องจากแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน มีลักษณะเฉพาะและวิธีการเดินทางก็ไม่เหมือนกัน เช่น
     
    • นักท่องเที่ยวที่จะปีนภูเขาคีรีมันจาโร ส่วนใหญ่จะใช้เวลามากกว่า 5 วัน และมีหลายเส้นทางให้เลือก แต่ละเส้นทางมีความยากง่าย มีระดับความสูงที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันต่างกัน รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างกัน แพทย์ต้องถามแผนการเดินทางเสมอ และต้องเข้าใจแต่ละเส้นทางพอสมควร ถึงจะให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมได้
    • นักท่องเที่ยวที่จะไป Trekking ที่ประเทศเนปาล ต้องถามเสมอว่าจะไป trekking ที่ไหน โดยในเนปาลมีพื้นที่สำคัญ 2 แห่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปปีนเขา คือ Annapurna circuit และ Everest area ซึ่งทั้ง 2 แห่งยังมี trekking route แตกต่างกันไป ตั้งแต่สั้นมากเวลาประมาณ 3-4 วัน บาง route ไกลและยาวใช้เวลากว่า 2-3 สัปดาห์ก็มี ดังนั้นแพทย์ต้องถามรายละเอียดเสมอ และควรมีแผนที่ และดูว่าเส้นทางที่นักท่องเที่ยวเลือก จะขึ้นสูงเร็วไปหรือไม่ จะได้สามารถให้คำปรึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมได้
    • สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในพื้นที่สูงในเวลาไม่นาน ลงสู่พื้นที่ต่ำในวันเดียวกัน เช่นกลุ่มที่ไปเที่ยวยอดเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนน์ เช่น Jungfraujoch, Titlis มักจะไม่เกิดโรคแพ้พื้นที่สูที่รุนแรง ไม่แนะนำให้กิน Acatazolamide ในกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตามต้องแนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินช้าๆ อย่าวิ่ง อย่าออกกำลังกายมากไปเมื่ออยู่บนที่สูง
  2. ในการให้คำปรึกษาเรื่องโรคแพ้ที่สูงทุกครั้ง ต้องเน้นการให้ความรู้เรื่องอาการและอาการแสดงของโรค รวมถึงการปฏิบัติตัวมีอาการ และต้องย้ำว่าถ้ามีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอาการของ High altitude cerebral edema (HACE) หรือ High altitude pulmonary edema (HAPE) ต้องรีบรักษาและหาทางเดินทางลงสู่ที่ต่ำกว่าทันที
  3. บทความนี้ได้ถูกนำไปเรียบเรียง และรวมเป็นหนึ่งในบทกรณีศึกษาของหนังสือเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว

 

Leave a Comment:

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Post comment