Thai Travel Clinic

Hospital for Tropical Diseases
Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University

Main Menu

มี 22 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

 

โครงการวิจัย
ปัญหาสุขภาพในนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ
เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุและนักท่องเที่ยวทั่วไป

 

ทีมาของโครงการวิจัย

 

            ในปัจจุบันพบว่ามีนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวัยนี้ เป็นวัยที่มีความพร้อมทั้งทางด้านการเงินและมีเวลาว่างในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในผู้สูงอายุยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด และมักเป็นข้อมูลที่ศึกษาในชาวต่างชาติ งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคน้อยกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป อาจเนื่องมาจากผู้สูงอายุมีการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดมากกว่า และมีความระมัดระวังในการท่องเที่ยวมากกว่า แต่มีบางงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดความเจ็บป่วยมากกว่าในบางโรค เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และตัวโรคมักจะมีความรุนแรงมากกว่า 

 

             แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพในนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวไทยยังมีค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวไทยที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างและหลังการเดินทาง โดยวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการเปรียบเทียบปัญหาสุขภาพระหว่างกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และนักท่องเที่ยวทั่วไป (อายุ 18-45 ปี) วัตถุประสงค์รองคือ การเปรียบเทียบลักษณะการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการเตรียมตัวก่อนการท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุก่อนการเดินทางอย่างเหมาะสม

 

           โดยการศึกษานี้เป็นการศึกษาไปข้างหน้า (Prospective cohort study) ศึกษาในผู้เดินทางชาวไทยที่เป็นการเดินทางระยะสั้น (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 31 วัน) โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบแบบสอบถาม 2 ครั้ง คือ ก่อนการเดินทาง และหลังกลับจากการเดินทางภายใน 7 วัน โดยการศึกษานี้เป็น multisite study เนื่องจากศึกษาทั้งหมด 3 แห่ง อันดับแรกคือ คลินิกผู้ป่วยนอก และคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับสองคือ คลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ส่วนอันดับสามคือ บริษัทท่องเที่ยวที่มีการติดต่อประสานงานไว้ล่วงหน้าและยินดีเข้าร่วมในงานวิจัย

 

            การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว   และหลักสูตร Master degree in Clinical Tropical Medicine (MCTM)

 

หัวหน้าโครงการวิจัยคือ แพทย์หญิงพลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2

 

ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยได้คือ 

 

  1. นักเดินทางชาวไทยทั้งหญิงและชาย
  2. อายุ 18 - 45 ปี และ 60 ปีขึ้นไป
  3. วางแผนเดินทางไปต่างประเทศ
  4. ระยะเวลาเดินทาง < 31 วัน
  5. ยินดีเข้าร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้

 

ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหากท่านเข้าร่วมโครงการวิจัย:


ถ้าท่านสมัครใจเข้าร่วมโครงการและลงนามในเอกสารยินยอมแล้ว ทีมผู้วิจัยจะขอให้ท่านทำแบบสอบถามชุดที่ 1 (ก่อนการเดินทาง) จำนวน 4 หน้า ใช้เวลาในการทำประมาณ 5-10 นาที ท่านสามารถเลือกทำแบบสอบถามได้ทั้งแบบกระดาษและแบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือของท่าน

 

เมื่อท่านเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว จะมีการส่งแบบสอบถามชุดที่ 2 (หลังการเดินทาง) ในรูปแบบออนไลน์ จำนวน 5 หน้า ใช้เวลาในการทำประมาณ 10-15 นาที ส่งไปทางอีเมล์ เอสเอ็มเอส หรือโปรแกรมไลน์ในโทรศัพท์มือถือของท่าน ตามช่องทางที่ท่านสะดวก ภายใน 7 วันหลังจากท่านเดินทางกลับ


หากท่านไม่ได้ส่งแบบสอบถามกลับมาที่ผู้วิจัยภายใน 3 วัน จะมีทีมผู้วิจัยโทรศัพท์ไปหาท่านเพื่อสอบถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นระหว่างและหลังการเดินทาง โดยใช้เวลาการสัมภาษณ์ประมาณ 10-20 นาที


หากท่านเกิดปัญหาสุขภาพจากการเดินทาง ทีมผู้วิจัยจะขอให้ท่านมาตรวจร่างกายและรับการรักษาที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยท่านจะได้รับการยกเว้นค่าตรวจรักษา (ไม่รวมค่ายา) กรณีที่ท่านไม่สะดวกเข้ามารับการรักษาดังกล่าว ผู้วิจัยจะขออนุญาตโทรศัพท์ติดตามอาการจนกว่าท่านจะหายเป็นปกติ