Thai Travel Clinic

Hospital for Tropical Diseases
Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University

Main Menu

 Qdenga vaccine is out of stock

   ขณะนี้ วัคซีนไข้เลือดออก(Qdenga)หมด

มี 154 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

 

โครงการวิจัย
ปัญหาสุขภาพในนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ
เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุและนักท่องเที่ยวทั่วไป

 

ทีมาของโครงการวิจัย

 

            ในปัจจุบันพบว่ามีนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวัยนี้ เป็นวัยที่มีความพร้อมทั้งทางด้านการเงินและมีเวลาว่างในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในผู้สูงอายุยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด และมักเป็นข้อมูลที่ศึกษาในชาวต่างชาติ งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคน้อยกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป อาจเนื่องมาจากผู้สูงอายุมีการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดมากกว่า และมีความระมัดระวังในการท่องเที่ยวมากกว่า แต่มีบางงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดความเจ็บป่วยมากกว่าในบางโรค เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และตัวโรคมักจะมีความรุนแรงมากกว่า 

 

             แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพในนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวไทยยังมีค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวไทยที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างและหลังการเดินทาง โดยวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการเปรียบเทียบปัญหาสุขภาพระหว่างกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และนักท่องเที่ยวทั่วไป (อายุ 18-45 ปี) วัตถุประสงค์รองคือ การเปรียบเทียบลักษณะการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการเตรียมตัวก่อนการท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุก่อนการเดินทางอย่างเหมาะสม

 

           โดยการศึกษานี้เป็นการศึกษาไปข้างหน้า (Prospective cohort study) ศึกษาในผู้เดินทางชาวไทยที่เป็นการเดินทางระยะสั้น (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 31 วัน) โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบแบบสอบถาม 2 ครั้ง คือ ก่อนการเดินทาง และหลังกลับจากการเดินทางภายใน 7 วัน โดยการศึกษานี้เป็น multisite study เนื่องจากศึกษาทั้งหมด 3 แห่ง อันดับแรกคือ คลินิกผู้ป่วยนอก และคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับสองคือ คลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ส่วนอันดับสามคือ บริษัทท่องเที่ยวที่มีการติดต่อประสานงานไว้ล่วงหน้าและยินดีเข้าร่วมในงานวิจัย

 

            การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว   และหลักสูตร Master degree in Clinical Tropical Medicine (MCTM)

 

หัวหน้าโครงการวิจัยคือ แพทย์หญิงพลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2

 

ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยได้คือ 

 

  1. นักเดินทางชาวไทยทั้งหญิงและชาย
  2. อายุ 18 - 45 ปี และ 60 ปีขึ้นไป
  3. วางแผนเดินทางไปต่างประเทศ
  4. ระยะเวลาเดินทาง < 31 วัน
  5. ยินดีเข้าร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้

 

ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหากท่านเข้าร่วมโครงการวิจัย:


ถ้าท่านสมัครใจเข้าร่วมโครงการและลงนามในเอกสารยินยอมแล้ว ทีมผู้วิจัยจะขอให้ท่านทำแบบสอบถามชุดที่ 1 (ก่อนการเดินทาง) จำนวน 4 หน้า ใช้เวลาในการทำประมาณ 5-10 นาที ท่านสามารถเลือกทำแบบสอบถามได้ทั้งแบบกระดาษและแบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือของท่าน

 

เมื่อท่านเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว จะมีการส่งแบบสอบถามชุดที่ 2 (หลังการเดินทาง) ในรูปแบบออนไลน์ จำนวน 5 หน้า ใช้เวลาในการทำประมาณ 10-15 นาที ส่งไปทางอีเมล์ เอสเอ็มเอส หรือโปรแกรมไลน์ในโทรศัพท์มือถือของท่าน ตามช่องทางที่ท่านสะดวก ภายใน 7 วันหลังจากท่านเดินทางกลับ


หากท่านไม่ได้ส่งแบบสอบถามกลับมาที่ผู้วิจัยภายใน 3 วัน จะมีทีมผู้วิจัยโทรศัพท์ไปหาท่านเพื่อสอบถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นระหว่างและหลังการเดินทาง โดยใช้เวลาการสัมภาษณ์ประมาณ 10-20 นาที


หากท่านเกิดปัญหาสุขภาพจากการเดินทาง ทีมผู้วิจัยจะขอให้ท่านมาตรวจร่างกายและรับการรักษาที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยท่านจะได้รับการยกเว้นค่าตรวจรักษา (ไม่รวมค่ายา) กรณีที่ท่านไม่สะดวกเข้ามารับการรักษาดังกล่าว ผู้วิจัยจะขออนุญาตโทรศัพท์ติดตามอาการจนกว่าท่านจะหายเป็นปกติ