Thai Travel Clinic

Hospital for Tropical Diseases
Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University

Main Menu

มี 54 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

 โรคพยาธิตัวจี๊ด

 

เรียบเรียงโดย      ผู้ช่วยศาสตราจารย์พารณ  ดีคำย้อย                                            
                     รองศาสตราจารย์พิเศษวรรณา   ไมพานิช                                            
                     รองศาสตราจารย์ชูเกียรติ  ศิริวิชยกุล                                           
                     รองศาสตราจารย์วิชิต   โรจน์กิตติคุณ             
จัดทำโดย          คณะกรรมการแผ่นพับเพื่อการประชาสัมพันธ์   คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

Gnathostomiasis1

สาเหตุของโรค
                 โรคพยาธิตัวจี๊ดมีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อเรียกว่า พยาธิตัวจี๊ด  และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แนธโธสโตมา สไปนิจิรัม ( Gnathostoma spinigerun )

พยาธิมีรูปร่างลักษณะอย่างไร
                 ตัวเต็มวัยของพยาธิทั้งตัวผู้และตังเมียยาวประมาณ 1.5 -3.0  ซม. มีลักษณะลำตัวกลมยาว หัวคล้ายลูกฟักทอง ทั้งหัวและตัวของพยาธิพวกนี้จะมีหนาม ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิมีลักษณะคล้ายพยาธิตัวเต็มวัย แต่มีหนามน้อยกว่าและมีขนาดเล็กมาก มักจะพบขดตัวอยู่ในถุงหุ้มซึ่งฝังตัวอยู่ในเนื้อของสัตว์พาหะ  ส่วนพยาธิที่พบในคนจะเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และมีขนาดยาวประมาณ 0.4 – 0.9 ซม.

แหล่งระบาดของพยาธิและโรค
                 ในประเทศไทยมีสัตว์ประมาณ 48 ชนิดที่ตรวจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่ ได้แก ปลาน้ำจืด เช่น ปลาไหล ปลาช่อน ปลาดุก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู ตะกวาด สัตว์ปีก เช่น นกกินปลาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเป็ดและไก่  สัตว์ฟันแทะ เช่น หนูพุก หนูท้องขาว กระแต ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรคพยาธิตัวจี๊ดมีหลายชนิด เช่น สุนัข แมว เสือ
จากการสำรวจปลาไหลในเขตภาคกลางของประเทศไทย พบว่ามีการแพร่กระจายของพยาธิตัวจี๊ดในหลายจังหวัด เช่น นครนายก ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ราชบุรี สระบุรี ลพบุรี เป็นต้น  อาหารที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารหมักที่ทำจากปลาน้ำจืด เช่น ส้มฟัก ปลาร้า ปลาเจ่า หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ อาจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่เช่นกัน.

gnathostomiasis2



วงจรชีวิต
                  ตัวเต็มวัยของพยาธิตัวจี๊ดทั้งตัวผู้และตัวเมีย  อาศัยอยู่ในผนังกระเพาะอาหารของสุนัขและแมว  หลังจากพยาธิผสมพันธุ์แล้ว พยาธิตัวเมียจะออกไข่ซึ่งจะปนออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ เมื่อไข่ลงน้ำจะฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1  เมื่อตัวกุ้งไร ( Cyclops ) กินตัวอ่อนระยะนี้ จะเจริญไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และระยะที่3 ขั้นเริ่มต้น  เมื่อปลากินกุ้งไรที่ตัวอ่อนระยะนี้  พยาธิจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3  ขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นระยะติดต่อ  ถ้าสุนัขหรือแมวกินปลานี้เข้าไป พยาธิก็จะเจริญเป็นตัวเมียเต็มวัยในผนังกระเพาะอาหาร  แต่ถ้าคนกินปลาซึ่งมีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป พยาธิก็จะคืบคลานหรือไชไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ยังไม่มีรายงานว่าพบพยาธินี้เจริญเป็นตัวตัวเต็มวัยจนสามารถออกไข่ได้ในคน.

gnathostomiasis3


การติดต่อ
                   โรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ด  สามารถเป็นได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อที่ปะปนอยู่ในเนื้อสัตว์  โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่ปรุงไม่สุก หรืออาจติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์โดยไชผ่านทางรก  นอกจากนี้พยาธิยังสามารถไชเข้าทางผิวหนัง โดยเฉพาในคนบางกลุ่มที่ใช้เนื้อสัตว์สด ๆ เช่น กบ ปลา มาพอกแผลเพื่อให้หายเร็วขึ้น.

อาการ
                    อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ  อาการที่เกิดจากพยาธิไชอยู่ใต้ผิวหนัง  ตามลำตัว แขน ขา และบริเวณใบหน้า ทำให้บวม  แดงบริเวณนั้นหรือเห็นเป็นรอยทางแดง ๆ ตามแนวที่พยาธิไชผ่าน  อาการบวมแดงนี้  จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา หลังจากนั้นอาจจะบวมขึ้นมาใหม่ในบริเวณอื่นใกล้ ๆ กัน แถบเดียวกัน  บางครั้งทำให้เกิดเป็นก้อนคล้ายเนื้องอกตามอวัยวะต่าง ๆ นอกจากที่ผิวหนังแล้ว  พยาธิอาจไชไปอวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ตา ปอด กระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะถ้าไปที่สมองจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง  คลื่นไส้  อาเจียน คอแข็ง ปวดตามเส้นประสาท

การวินิจฉัย
                    การจะบอกว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดแน่นอน  ต้องตรวจพบตัวพยาธิ  ซึ่งอาจจะไชออกมาทางผิวหนังเอง  แต่โดยทั่วไปมักไม่พบพยาธิแม้จะผ่าเข้าไปข้างในบริเวณที่บวม  ดังนั้นการที่จะบิกว่าเป็นโรคนี้  จึงมักดูจากอาการของโรคว่ามีอาการเจ็บ ปวด บวม เคลื่อนที่ได้ และพฤติกรรมการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือไม่  และเจาะเลือดหรือน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจด้วยวิธีทางอิมมิวโนวินิจฉัย

การรักษา
                   ควรพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันว่าเป็นพยาธิตัวจี๊ดจริง และพิจารณาให้ใช้ยารักษาพยาธิที่เหมาะสม