Thai Travel Clinic

Hospital for Tropical Diseases
Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University

Main Menu

มี 105 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

📣ในระหว่างวันที่ 7-16 พฤษภาคม 2568 เจ้าหน้าที่ประจำคลินิกจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมวิชาการ ณ ต่างประเทศ

ซึ่งอาจส่งผลให้การให้บริการล่าช้ากว่าปกติ ขอแนะนำให้ท่านทำการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการรับบริการ

 สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับโรคพยาธิ

 

worms

 เรียบเรียงโดย      ผู้ช่วยศาสตราจารย์พารณ  ดีคำย้อย 
                      รองศาสตราจารย์พิเศษวรรณา   ไมพานิช 
 จัดทำโดย  คณะกรรมการแผ่นพับเพื่อการประชาสัมพันธ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

พยาธิ คืออะไร
        
พยาธิคือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ คอยแย่งอาหาร หรือดูดเลือดและมักจะ ทำให้เกิดอันตรายต่อคนหรือสัตว์ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มันอาศัยอยู่ พยาธิมีมากมายหลายชนิดแตกต่างกัน นอกจากนี้เราสามารถพบระยะต่าง ๆ ของพยาธิปะปนอยู่ในธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมัน เช่น ในดิน พื้นหญ้า ในน้ำ ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชผักต่าง ๆ น้ำดื่ม และในแมลงพาหนะนำโรคหลายชนิด

 

พยาธิเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
          พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้หลายทางที่สำคัญคือ ทางปาก เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวตืดชนิดต่าง ๆ พยาธิใบไม้ตับและพยาธิใบไม้ลำไส้บางชนิด พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ปอด และพยาธิหอยโขง ทางผิวหนัง เช่น พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย ทางสายรกในครรภ์ เช่น พยาธิตัวจี๊ด

 

จะรู้อย่างไรว่าเป็นโรคพยาธิ
            เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น หิวบ่อย และทานอาหารมาก น้ำหนักลด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เจ็บและบวมตามผิวหนัง เจ็บแน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด แพ้และมีผื่นคันหรือเป็นแนวแดง ๆ บนผิวหนัง มีตุ่มนูนจำนวนมากขึ้นตามผิวหนัง เป็นไข้ ปวดเหมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจโรค ควรนำอุจจาระหรือเสมหะ หรือสิ่งที่สงสัยว่าเป็นพยาธิใส่ภาชนะที่สะอาด มาด้วย โดยอาจจะมาตรวจที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หรือโรงพยาบาลอื่น ก็ได้

Tapeworm

อันตรายที่เกิดจากโรคพยาธิ
                  พยาธิทำอันตรายต่อสุขภาพ แย่งอาหาร ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการแพ้ต่อสารที่ขับออกมาจากตัวพยาธิ ทำลายสุขภาพจิต เป็นอัมพาต และอาจถึงแก่ชีวิตได้สิ้นเปลืองเงินค่ารักษา
                    อาการของโรคพยาธิ  ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด จำนวนและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่  รวมไปถึงระยะเวลาในการเป็นโรคว่านานเท่าไร เช่น คนที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับที่มีพยาธิจำนวนน้อยผู้ป่วยจะไมค่อยมีอาการ แต่ถ้ามีพยาธิจำนวนมากผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร เจ็บบริเวณตับ ผอมซีด หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการรุนแรงขึ้น โดยมีอาการตัวเหลือง ตับแข็ง ท้องมาน และอาจเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

 

 

 การป้องกันโรคพยาธิ      

  •            รับประทานอาหารที่สุก สะอาด
  •            ดื่มน้ำสะอาด
  •            ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
  •            เก็บอาหารให้ปลอดจากแมลงและสัตว์พาหนะโรค
  •            สวมใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่ออกจากบ้าน
  •            ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  •            ป้องกันตนเองจากการกัดของแมลงพาหะ
  •            รักษาความสะอาดในบ้านและรอบบ้านให้สะอาด