จะไปเรียนเมืองนอก ต้องมีเอกสารรับรองวัคซีน แต่สมุดวัคซีนตอนเด็กหาย ทำอย่างไรดี

ปัญหานี้นับเป็นปัญหาที่พบบ่อยอีกอย่างหนึ่งในคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทางของเรา ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะไปเรียนที่ต่างประเทศ ซึ่งสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่จะส่งนักเรียนไปต่างประเทศต้องการให้ผู้ปกครองยื่นเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนให้ โดยเอกสารดังกล่าวมักต้องให้แพทย์กรอกข้อมูล ว่าเคยได้รับวัคซีนอะไรบ้างตอนเด็กๆ ได้รับกี่เข็ม และได้รับเมื่อไร

ถ้าคุณพ่อคุณแม่คนไหนยังมีสมุดวัคซีนลูกอยู่ ก็มักจะไม่มีปัญหา  แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาคือ สมุดวัคซีนตอนเด็กๆไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว ไม่รู้เก็บไว้ไหน หรือสูญหายระหว่างการย้ายบ้าน หรือตอนน้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งเวลาไม่มีสมุดดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่จะลำบากมาก เพราะเวลาเอาเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนไปให้คลินิกหรือโรงพยาบาลให้ช่วยกรอก ก็มักจะถูกปฏิเสธบอกว่า ต้องไปหาสมุดวัคซีนมาก่อน ไม่งั้นกรอกไม่ได้ หรือต้องฉีดใหม่ทั้งหมด ซึ่งนับไปนับมา อาจต้องฉีดเป็นสิบเข็ม ลูกจะต้องเจ็บตัวหลายครั้ง ปัญหาดังกล่าวสร้างความยุ่งยากมาก คุณพ่อคุณแม่บางท่านน่าสงสารมากพาลูกๆไปหลายโรงพยาบาลก็ยังไม่มีที่ไหนออกให้เลย

สมุดสีชมพู ที่จะมีบันทึกการฉีดวัคซีนตอนเด็ก ซึ่งจะมีปัญหาเมื่อทำหาย

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จะทำอย่างไรดี ก่อนอื่นไม่ต้องตกใจจนเกินไปครับ ทุกอย่างมีทางออกเสมอ วันนี้จะเล่าให้ฟังครับว่า ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง รพ.เวชศาสตร์เขตร้อนของเรา มีข้อแนะนำและมีแนวทางดำเนินการอย่างไร

1. ก่อนอื่นเลยครับ คุณหมอเรามักจะกระตุ้นให้ช่วยคิดครับว่า น้องนักเรียนเกิดและโตที่ไหน คุณพ่อคุณแม่ลองคิดดูอีกสักครั้งครับว่า สมุดน่าจะยังอยู่หรือเปล่า นักเรียนบางรายคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เก็บไว้ แต่ปรากฎว่าคุณตาคุณยายท่านได้เก็บไว้ เพราะตอนเกิดใหม่ๆ ตายายเป็นคนเลี้ยง เป็นคนพาไปฉีดวัคซีน ซึ่งท่านเก็บไว้ให้ บางทีโทรไปถามเราก็ได้สมุดมาแล้ว ลองคิดทบทวนดูอีกสักครั้งครับ ถ้าเราหาสมุดวัคซีนนี้เจอ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นมาก

2. ถ้ายังไงก็หาไม่เจอแน่ หรือแน่ใจว่าหาย อีกที่ที่ควรจะสืบหาประวัติก็คือ โรงพยาบาลที่น้องนักเรียนเกิดและคุณพ่อคุณแม่ได้พาไปฉีดวัคซีน แพทย์ของเรามักจะแนะนำให้ลองติดต่อโรงพยาบาลนั้นๆดูก่อน เพราะในบางครั้งโรงพยาบาลอาจจะเก็บประวัติการฉีดวัคซีนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการติดตามรักษาหรือไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนั้นๆสม่ำเสมอ แต่เวชระเบียนของโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะถูกทำลายทิ้งไป ถ้าคนไข้ขาดการติดต่อเป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม การติดต่อโรงพยาบาลเดิม หรือคลินิกเดิมที่เคยฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งที่น่าจะลองทำดู บางครั้งจะได้ประวัติการฉีดวัคซีนกลับมา

3. ขั้นตอนในข้อ 1-2 น่าจะลองทำดูก่อนครับ แต่คุณพ่อคุณแม่ส่วนหนึ่งที่พาลูกๆมากที่รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน มักจะหาสมุดหรือประวัติไม่ได้จริงๆ ก็ไม่เป็นไรครับ คุณหมอเราก็จะมีขั้นตอนอยู่ เริ่มจาก คุณหมอจะถามประวัติทั่วไป เกิดปีพศ.อะไร เกิดที่ไหน จังหวัดอะไร ตอนเด็กๆฉีดวัคซีนครบไหม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยหมอได้มากครับ เพราะจะช่วยประมาณการได้ว่า น้องน่าจะฉีดวัคซีนอะไรมาแล้วบ้าง คืออย่างนี้ครับ วัคซีนที่เราฉีดให้เด็กไทยในแต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน เช่น วัคซีนตับอักเสบบี เราเพิ่งมีนโยบายฉีดวัคซีนนี้ให้เด็กไทยทุกคนในปีพศ. 2535 แปลว่าเด็กที่เกิดมาหลังปี 2535 นี้น่าจะได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่ถ้าเกิดมาก่อน และพ่อแม่ไม่คุ้นเลยว่าได้พาไปฉีดเพิ่มเติม ก็น่าจะไม่ได้รับ

4. นอกจากนี้คุณหมอจะประเมินจาก ข้อมูลอัตราการรับวัคซีนพื้นฐาน (วัคซีนที่บังคับให้เด็กต้องได้รับ) ของเด็กไทย ซึ่งเด็กไทยโดยทั่วไปที่เกิดในโรงพยาบาล และอยู่ในเมือง ไม่ได้อยู่ในที่ทุรกันดารมาก อัตราการได้รับวัคซีนครบถ้วนสูงมากครับ สูงกว่า 90% แปลว่า เด็กส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนพื้นฐานครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัคซีนวัณโรค (BCG)โปลิโอ คอตีบไอกรน บาดทะยัก ครบถ้วน

ซึ่งข้อมูลตรงนี้ ร่วมกับข้อมูลในข้อ 3 หมอจะพอประมาณได้ว่าน้องนักเรียนรายนี้น่าจะได้วัคซีนอะไรบ้าง และได้ตอนอายุเท่าใด อย่างไรก็ดีวัคซีนบางตัวอัตราได้รับในเข็มที่ 2 จะต่ำ เช่นวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) เพราะวัคซีนเข็มดังกล่าว เด็กจะได้รับตอนช่วงอายุ 4-6 ปี ซึ่งเด็กโตแล้ว พ่อแม่อาจจะลืมพาไป

ตารางการให้วัคซีนเด็กปี 2559 ซึ่งจะแตกต่างจากวัคซีนเด็กที่เกิดในปี 2530+ เพราะวัคซีนหลายอย่างยังไม่มี

5. หลังจากนั้นคุณหมอ จะพิจารณาจากเอกสารการฉีดวัคซีน ที่คุณพ่อคุณแม่นำมาให้กรอก ซึ่งเอกสารตรงนี้มีความแตกต่างหลากหลายกันไป บางสถาบัน บางประเทศ สนใจเฉพาะวัคซีนบางตัว ซึ่งต้องลงวันเวลาฉีด แต่วัคซีนบางตัว เช่น วัคซีนตับอักเสบ ฺB บางที่ก็ไม่สนใจว่าเคยได้วัคซีนมาเมื่อไร แต่ต้องมีผลเลือดยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว ในกรณีนี้แพทย์จะไม่มุ่งเน้นการซักประวัติมากนัก เพราะต่อให้เคยฉีดแล้ว ก็ยังต้องเจาะเลือดยืนยันด้วย ซึ่งการพิจารณาตรงนี้เป็นดุลพินิจของแพทย์

6. โดยส่วนใหญ่แล้ว ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เรามักจะไม่ฉีดวัคซีนเริ่มใหม่ทั้งหมด เพราะเสียเวลา เจ็บตัว และยุ่งยากพอสมควร เช่น วัคซีนบาดทะะยัก-คอตีบ-ไอกรน (DTP) ตอนเด็กๆต้องได้ 5 เข็ม ถ้าต้องเริ่มใหม่จะยุ่งยากมาก ผลข้างเคียงก็มาก แพทย์มักจะพิจาณาจากประวัติและจะกรอกในเอกสารนั้นให้โดยดูเป็นกรณีไป แพทย์อาจเขียนว่า จากประวัติที่คุณพ่อคุณแม่ให้ และจากสถิติข้อมูลสาธารณสุขของไทยพบว่าเด็กไทยมีอัตราการรับวัคซีนสูงมาก จึงเชื่อได้ว่านักเรียนรายนี้ น่าจะได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้ครบแล้วเมื่ออายุ….ปี ตามตารางมาตรฐานการฉีดวัคซีนของเด็กไทย  ซึ่งแทบทั้งหมดไม่มีปัญหากับทางโรงเรียน หรือสถาบันต่างๆครับ เพราะเขาก็ทราบดีว่า ถ้าสมุดหายไปแล้ว ไม่มีใครจะสามารถรับรองได้หรอกครับว่าน้องนักเรียนเคยได้รับวัคซีนมาจริง เมื่อไร (เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน)

7. อย่างไรก็ดี มีบ้างเหมือนกันที่บางสถาบัน strict มาก ถ้าไม่มีประวัติก็ต้องเจาะเลือดยืนยัน ซึ่งตรงนี้่แบบฟอร์มที่นำมาให้หมอกรอกมักจะมีระบุไว้ แพทย์ก็จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป

โดยสรุปปัญหาสมุดวัคซีนหาย เป็นปัญหาที่พบได้เนืองๆครับ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลจนเกินไป ลองเอาแบบฟอร์มรับรองการฉีดวัคซีนที่ได้รับมาปรึกษาแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านดูก่อนก็ได้ครับ ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องฉีดวัคซีนตัวไหนเพิ่มหรือไม่ หรือต้องเจาะเลือดหรือเปล่า อย่างไรก็ตามควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆครับ เพราะวัคซีนบางอย่างต้องฉีดหลายเข็ม หรือการเจาะเลือดบางอย่างต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะได้ผล เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่จะยื่นเอกสารไม่ทัน

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>