วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นเป็นวัคซีนเฉพาะที่ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป แต่เป็นวัคซีนที่สำคัญสำหรับบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป กลุ่มผู้แสวงบุญที่จะไปประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกาบางประเทศ ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องวัคซีน เรามารู้เรื่องโรคนี้สักเล็กน้อยดีกว่าครับ
1. โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก เชื้อก่อโรคคือ เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Neisseria meningitidis ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือเกิดการแพร่กระจายลุกลามในกระแสโลหิต (Meningococcemia) และทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
2. โรคนี้ติดต่อทางละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลาย หรือจากสารคัดหลั่งต่างๆ จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายจะเป็นพาหะ มีน้อยรายมากที่เชื้อจะลุกลามไปที่เยื่อหุ้มสมองหรือกระแสโลหิต ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ประปราย ไม่พบการระบาดใหญ่ ในแต่ละปีมีรายงานคนไทยที่เป็นโรคนี้น้อยมาก ปีละประมาณ 30-40 คนมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศไทยปีละไม่เกิน 10 คน
3. โรคนี้จะติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือคลุกคลีอยู่กันคนหมู่มาก อยู่รวมๆกัน เช่น นักเรียนนักศึกษาในหอพัก กลุ่มผู้แสวงบุญ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวนักเดินทางที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในประชากรเฉพาะกลุ่มดังกล่าว

ไข้กาฬหลังแอ่นเป็นวัคซีนที่ต้องพิจาณาก่อนไปเรียนเมืองนอก
4. เชื้อไข้กาฬหลังแอ่นมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ แตกต่างกันไป อุบัติการณ์ของโรคนี้จะพบมากในชาวตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และพบการระบาดในแถบแอฟริกา ทำให้ในประเทศกลุ่มดังกล่าวมักมีการให้วัคซีนดังกล่าวในประชากร ถือเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ แต่ในประเทศแถบเอเชียพบอุบัติการณ์ของโรคนี้น้อยมาก ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นให้เด็ก หรือคนทั่วไป รวมทั้งประเทศไทย
4. วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ
- วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ชนิดคอนจูเกตแบบ 4 สายพันธุ์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Meningococcal Conjugated Vaccine (MCV4) ชื่อการค้าที่จดทะเบียนและมีใช้ในประเทศไทยขณะนี้คือ Menactra และ Menquadfi สามารถป้องกันโรคได้ 4 สายพันธุ์คือคือ A, C, Y, W-135 ฉีด 1 เข็ม ป้องกันได้ 3-5 ปี
- วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น สายพันธุ์ B ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย และในบางประเทศ วัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ เพิ่งมีใช้ได้ 1-2 ปี ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1-6 เดือน
ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนนี้ มี 4 กลุ่มใหญ่ๆคือ
1. นักเรียนนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าไปพักในหอพัก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการระบาดของโรคนี้ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทำให้ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีข้อกำหนดเลยว่า นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้าไปเรียนจะต้องได้รับวัคซีนดังกล่าวก่อนเข้าไป และจะต้องยื่นเอกสารว่าได้รับการฉีดวัคซีนนี้ด้วย นอกจากวัคซีนชนิดนี้แล้ว ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดเรื่องสุขภาพแตกต่างๆกัน เช่นในบางมหาวิทยาลัยกำหนดว่าจะต้องได้รับวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ด้วย หรือจะต้องทำการตรวจวัณโรคก่อนไป ฯลฯ แต่ในบางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้บังคับไว้ ดังนั้นสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการมาตรวจสุขภาพหรือมาฉีดวัคซีนก่อนไปเรียน ควรนำใบข้อกำหนดต่างๆจากมหาวิทยาลัยมาให้แพทย์ดูด้วยครับ จะได้พิจารณาเรื่องการตรวจต่างๆและเรื่องวัคซีนไปในคราวเดียวกัน
2 กลุ่มผู้แสวงบุญในพิธีฮัจจ์และอุมเราะห์ อันนี้ก็เป็นข้อกำหนดของทางการประเทศซาอุดิอารเบียเลยนะครับว่า ก่อนเข้าร่วมพิธีดังกล่าวจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น โดยจะต้องยื่นหลักฐานว่าเคยได้รับวัคซีนนี้แล้วเพื่อใช้ในการขอ visa เข้าประเทศ โดยจะต้องฉีดล่วงหน้าก่อนเดินทางไปอย่างน้อย 10 วัน แต่ไม่เกิน 3 ปี
3 กลุ่มนักท่องเที่ยว/นักเดินทางที่จะไปในประเทศในเขต Meningitis belt ในแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศแกมเบีย บูร์กินาฟาโซ เซเนกัล กีนี ไล่ไปทางตะวันออกจนถึงประเทศเอธิโอเปีย หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องเข้าไปคลุกคลีกับคนพื้นที่มากๆ ลองดูแผนที่ Meningitis belt จาก US CDC ดูนะครับ จะเห็นว่าประเทศในแถบนี้เคยมีการระบาดของโรคที่รุนแรง มีอัตราการเกิดโรคสูงกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปท่องเที่ยวหรือทำงานในประเทศดังกล่าวควรได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง
3 กลุ่มที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีม้าม ถูกตัดม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ หรือได้รับยาบางอย่างที่กดการทำงานของ Compliment ฯลฯ ผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการรับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น
4. กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคสูงกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้ที่ต้องทำงานในห้อง lab ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ ผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ระบาด หรือผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีคนรวมกลุ่มกันอยู่มาก เช่น ไปร่วมงานคาร์นิวัล ไปร่วมงานมหกรรมกีฬา ฯลฯ กลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง
คำถามที่ถามบ่อย (FAQ)
1. จะไปเรียนที่อเมริกา ยุโรปจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นไหม
ในทางปฏิบัติแพทย์จะดูข้อกำหนดของสถาบันก่อนครับ ว่าเป็นข้อบังคับของเขาหรือไม่ ถ้าเป็นวัคซีนบังคับ เช่นระบุว่า Required, Mandatory หรือแม้แต่เป็นวัคซีนแนะนำ (Recommended vaccine) ที่คลินิกมักจะแนะนำให้ฉีดครับ เพราะประเทศหรือพื้นที่ที่จะไปคงเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดหรือมีคนเป็นพาหะอยู่มากในประชากร นักเรียนไทยของเราไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อนในตอนเด็ก การป้องกันก็โดยการฉีดวัคซีนก็เป็นการดี
แต่ถ้าไม่มีข้อกำหนดให้ต้องฉีด หรือเป็น Optional vaccine ตรงนี้หมอเราจะพิจารณาหลายอย่างครับ เช่น ไปเรียนอะไร จะเจอนักเรียนชาติอะไรมาก จำนวนนักเรียนของสถาบันเยอะแค่ไหน ไปอยู่ในเมืองอะไร อยู่หอพักหรือไม่ การเดินทางจะเจอคนหมู่มาก หรือแออัดมากแค่ไหน ข้อมูลเหล่านี้แพทย์จะใช้ในการพิจารณาความเสี่ยงครับ เช่น สมมุติจะไปเรียนเมือง New York ที่สถาบันไม่ได้บังคับ แต่ถ้าไปเรียนกับคนมากๆ มีกิจกรรมที่ต้องใกล้ชิด และนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินทุกวันไปเรียน ซึ่งมีความแออัดมาก ในกรณีดังกล่าว หมอเรามักจะแนะนำให้ฉีดครับ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าไปเรียนในสถาบันเล็กๆ มีเพื่อนร่วมเรียนไม่มาก มีแต่คนเอเชีย และเรียนในเมืองที่เป็นชนบทหน่อย ในกรณีดังกล่าวความเสี่ยงย่อมจะน้อยกว่าในกรณีแรก
2. ในแบบฟอร์มบอกว่า อายุเกิน xxx ปีแล้วไม่ต้องฉีด ทำไมบางครั้งหมอยังแนะนำให้ฉีด
อย่างที่กล่าวมาแล้วครับ ว่าวัคซีนนี้ในประเทศตะวันตก ส่วนใหญ่ได้กันมา 1-2 ครั้งแล้ว ตอนเด็ก 1 ครั้ง และ/หรือ ตอนเข้า high school ดังนั้นเมื่อถึงในหลายแบบฟอร์มถึงเขียนว่า ถ้าอายุเกินตัวเลขหนึ่ง เช่น 18, 20 หรือ 21 ปีแล้ว ฯลฯ ไม่ต้องฉีด นั่นคือทางสถาบันเชื่อว่านักเรียนคนนั้นน่าจะได้วัคซีนมาแล้ว และความเสี่ยงน่าจะลดลง
แต่สำหรับนักเรียน นักศึกษาไทย หมอที่คลินิกนักท่องเที่ยวโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มักจะไม่ใช้อายุมาพิจารณาครับ เพราะเด็กไทยเรา ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พบคนเป็นโรคน้อย ไม่น่าจะเคยสัมผัสโรคมา แต่กำลังจะไปในแหล่งที่มีคนเป็นพาหะมากกว่า โดยเฉพาะถ้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ไปอยู่ในที่มีคนมากๆ และไปเรียนเป็นปี หมอเรามักจะแนะนำให้ฉีดครับ ต่อให้เขาไม่ได้บังคับ หรืออายุเกินที่เขาแนะนำให้ฉีดก็ตาม
3. ควรฉีดวัคซีนป้องกันแบบ 4 สายพันธุ์หรือ แบบป้องกันสายพันธุ์ B ด้วยดี
วัคซีนแรกที่แพทย์และสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่แนะนำให้ฉีด ยังเป็นแบบ 4 สายพันธุ์ครับ เพราะครอบคลุมจำนวนเชื้อได้มาก และหลากหลายกว่า อย่างไรก็ดีบางสถาบันหรือบางพื้นที่ จะแนะนำให้ฉีดสายพันธุ์ B หรือฉีดทั้ง 2 อย่างคือแบบ 4 สายพันธุ์ (ACYQW) และสายพันธุ์ B ซึ่งฉีดพร้อมกันได้ครับ แต่ราคาค่าวัคซีน ถ้าฉีดทั้ง 2 ตัวจะแพงมากเหมือนกัน
4. ในคนไทย และนักเรียนไทยที่ไม่ได้ไปต่างประเทศ ต้องฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นไหม
อย่างที่กล่าวมาครับ ว่าประเทศไทยเราพบโรคนี้น้อยมาก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่ได้กำหนดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่คนไทยควรได้รับ และไม่ได้แนะนำให้ใช้ในคนไทยทั่วไปครับ ซึ่งคำแนะนำนี้สอดคล้องกับคำแนะนำการให้วัคซีีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2568
5. ถ้าอยากฉีดวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นจะฉีดได้ที่ไหน
เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป จึงอาจหาได้ยาก และไม่มีในโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนสามารถติดต่่อได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข และตามโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง
6. วัคซีนมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน
วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นทั้ง 2 ชนิด เป็นวัคซีนแบบเชื้อตาย มีความปลอดภัยสูงมาก ผลข้างเคียงที่พบได้เหมือนวัคซีนทั่วๆไป เช่น มีไข้ เจ็บปวด บริเวณที่ฉีด ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก หายเองได้ในเวลา 1-2 วัน ประสิทธิภาพของวัคซีนสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนะครับว่าวัคซีนทุกชนิด ไม่มีชนิดไหนป้องกันได้ 100 % และเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นมีหลายสายพันธุ์อีกต่างหาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรสวม mask ถ้าเข้าไปในที่ชุมนุมชน เว้นระยะห่างที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด
References:
- สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พศ. 2568. Recommended Adult and Elderly Immunization Schedule. Available from https://www.idthai.org/Contents/Download/f369b411c5eb95ab252e1ab9de70f787fa720784/1/?p=l4fevdjw
- กรมควบคุมโรค. กระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์โรคไข้กาฬหลังแอ่น Available from https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=19.
- วศิน แมตสี่. วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นและวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ในวัชรพงศ์ ปิยะภาณี และคณะ. เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว 2nd Edition. กรุงเทพฯ เนติกุลการพิมพ์ 2568; 91-104.
- Center for Disease Control and Prevention. Health Information for International Travel 2024. Atlanta: Oxford University Press; 2023.
Leave a Reply