เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไทฟอยด์ (Typhoid vaccine)

วัคซีนไทฟอยด์เป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย เพราะจัดเป็นวัคซีนเฉพาะที่ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป แต่จะมีที่ใช้บ้างในนักท่องเที่ยวและนักเดินทางบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่จะเดินทางไปประเทศอินเดีย หรือประเทศใกล้เคียง เช่น เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ถึงตอนนี้อาจมีหลายคนถามว่า ถ้างั้นถ้าจะไปเที่ยวอินเดียก็ควรฉีดวัคซีนไทฟอยด์ใช่ไหม ต้องฉีดทุกคนเลยหรือเปล่า ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น เราลองมาอ่านเรื่องราวของโรคไทฟอยด์สักเล็กน้อยพอเป็นข้อมูลครับ

  1. โรคไทฟอยด์ (Typhoid fever) หรืออีกชื่อหนึ่งในภาษาไทย โรคไข้รากสาดน้อย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Salmonella Typhi และสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ โดยกินหรือดื่มอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะเข้าไป
  2. ในสมัยก่อนจะพบโรคนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการสาธารณสุขมูลฐานยังไม่ดีนัก ในปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นประเทศในแถบยุโรป อเมริกา พบโรคนี้ได้น้อยมาก ส่วนในประเทศไทยอัตราการติดเชื้อไทฟอยด์ลดน้อยลงมากเช่นกัน ทำให้เราไม่ได้แนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดนี้เพื่อป้องกันโรคในประเทศไทย แต่ในบางประเทศยังมีอัตราการติดเชื้อสูง เช่นประเทศในแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และประเทศในแถบแอฟริกา
  3. ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไป จะมีอาการมีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวหรือในบางรายอาจมีอาการท้องผูก ในรายที่เป็นรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ติดเชื้อในกระแสโลหิต ลำไส้อักเสบ ลำไส้ทะลุ หรือมีเลือดออกที่ทางเดินอาหาร แต่ปัจจุบันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวและการเสียชีวิตจากโรคนี้พบได้น้อยมาก เนื่องจากมีความก้าวหน้าในการวินิจฉัย และมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายมากขึ้น
  4. อย่างไรก็ดีการป้องกันโรคที่สำคัญคือการดูแลสุขอนามัย รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก ล้างมือก่อนรับประทานอาหารเสมอ

      สำหรับเรื่องวัคซีนไทฟอยด์ ปัจจุบันที่มีใช้อยู่ในประเทศไทยเป็นชนิดฉีดครับ ชื่อการค้าคือ Typhim Vi® ฉีด 1 ครั้งสามารถป้องกันโรคได้ 3-5 ปี อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพไม่ดีนัก คือป้องกันโรคได้ประมาณ 50-80% เท่านั้น และป้องกันการติดเชื้อ Typhoid ได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อ Salmonella สายพันธุ์อื่นได้ ดังที่กล่าวแล้วครับว่า โดยทั่วไปเราไม่ได้แนะนำให้คนไทยฉีดวัคซีนนี้ ยกเว้นในบางกลุ่ม คือในคนที่จะเดินทางไปในที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคสูง โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและประเทศใกล้เคียงเช่น เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน รวมทั้งบางประเทศในแอฟริกา แต่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปในประเทศดังกล่าวไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนทุกราย ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง และต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล เช่น ถ้าเป็นนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปที่จะพักที่ที่ดีหน่อย หรือคิดว่าอาหารการกินจะกินเฉพาะในแหล่งที่เชื่อถือได้ โอกาสติดเชื้อก็น้อย อาจจะไม่ต้องรับวัคซีนก็ได้

        สำหรับกลุ่มคนไทยที่จะไปเที่ยวอินเดียกับทัวร์ เช่นไปทัชมาฮาล ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ฯลฯ ส่วนใหญ่การเดินทางไปเป็นกลุ่มแบบนั้น อาหารการกินที่ทัวร์จัดให้มักจะดี มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไทฟอยด์น้อย โดยเฉพาะถ้าเราระมัดระวังไม่ไปกินอาหารอื่นที่ดูไม่สะอาด ตรงกันข้าม ถ้าคิดว่าจะไปเที่ยวอินเดียเป็นเวลานานหน่อย และจะไปแบบลุยๆ เช่น backpack ไป หรือจะไปเที่ยวตามชนบท ซึ่งอาหารการกินอาจจะไม่ดีนัก การฉีดวัคซีนก็เป็นทางเลือกที่ดี

         นอกจากนี้ในบางอาชีพที่มีการเดินทางบ่อย เช่น เจ้าหน้าที่สายการบิน แอร์โฮสเตส คนที่ทำงานในเรือ นักเรียนพานิชนาวี หรือในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เจ้าหน้าที่ที่จะถูกส่งไปปฏิบัติงานในประเทศในแถบแอฟริกาเป็นเวลานาน ฯลฯ น่าจะพิจารณาฉีดวัคซีนไทฟอยด์ ซึ่งในปัจจุบันหลายๆองค์กร ถือเป็นข้อกำหนดเลยว่าให้พนักงานทุกคนก่อนเข้าปฏิบัติงานจะต้องรับการฉีดวัคซีนไทฟอยด์ก่อน

1 comment to เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไทฟอยด์ (Typhoid vaccine)

  • Caroline Nash

    I toured the travel clinic whilst I was attending a Tropical Medicine elective at Mahidol University. I was very impressed, what a beautiful clinic, lots of great resources and a lot of research being done there.
    I work in a travel clinic in Australia so I found visiting your clinic very interesting.

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>