ผลวิจัยน่ารู้ คนไทยไปเที่ยวอินเดีย ไม่สบายมากน้อยแค่ไหน

เมื่อเอ่ยถึงอินเดีย หลายคนอาจจะกังวลในการเดินทางไปท่องเที่ยว เนื่องจากกลัวและกังวลปัญหาสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องท้องเสีย วันนี้เราจะมาดูกันครับว่าปัญหาสุขภาพจริงๆในคนไทยที่ไปเที่ยวอินเดีย เราเจอกันมากน้อยแค่ไหน และคนไทยมักจะไม่สบายเป็นโรคอะไรบ้าง

บทความนี้ค่อนข้างยาว และมีรายละเอียดมากครับ เพราะเป็นการนำผลการวิจัยเรื่อง Health problems among Thai tourists returning from India ซึ่งเป็นผลงานวิจัยล่าสุดของคลินิกมาเล่าให้ฟัง ซึ่งงานวิจัยนี้คุณจุฑามาศ เจ้าหน้าที่วิจัยของคลินิกเป็นผู้วิจัยหลัก (PI) ถ้าใครไม่อยากอ่านยาวๆ ลองดูผลสรุปง่ายๆเลยก็ได้ครับ ดังนี้

“52% ของคนไทยที่ไปเที่ยวอินเดียจะมีปัญหาสุขภาพอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่คืออาการในระบบทางหายใจ เช่นไอ เจ็บคอ เป็นหวัด พบประมาณ 1/3 ของนักท่องเที่ยว รองลงมาเป็นอาการทางกล้ามเนื้อ เช่น ปวดเมื่อย พบได้ 21 % ส่วนเรื่องท้องเสียที่เราคิดว่าจะเจอบ่อยมากเป็นอันดับ 1 กลับพบไม่มากนักเป็นอันดับ 4 โดยพบแค่ 10% ของนักท่องเที่ยว” 

อ่านแล้วพอเห็นภาพไหมครับ  แต่อยากให้อ่านต่อในรายละเอียด เพราะการอ่านแค่ผลสรุป แล้วนำไปใช้เลยต้องระมัดระวัง เพราะข้อมูลจากการวิจัยอาจใช้ไม่ได้ในทุกกรณี ก่อนที่จะมาดูกันในรายละเอียดของงานวิจัย มีบางประเด็นต้องทำความเข้าใจกันก่อน 

  1. อินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีสถานที่ท่องเที่ยวแตกต่างกันมากมายในหลายลักษณะ และกระจายกันไปในหลายภูมิภาคของประเทศ ซึ่งคนไทยที่ไปเที่ยวที่อินเดีย อาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3-4 กลุ่มดังนี้ 
    • กลุ่มที่ไปแสวงบุญ ไหว้พระที่สังเวชนียสถาน ทั้ง 4 ตำบล นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะเป็นวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ มักจะซื้อทัวร์ไปเป็นหมู่คณะ
    • กลุ่มที่ไปเที่ยวอินเดียภาคเหนือ โดยเฉพาะเลห์ และลาดักห์ กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้น  มักจะไปกันเอง กลุ่มเล็กๆ และซื้อทัวร์หรือเช่ารถพร้อมคนขับที่นั่น แล้วไปเที่ยวกันตามสถานที่ต่างๆ
    • กลุ่มที่ซื้อทัวร์ไปทัชมาฮาล อัครา ชัยปุระ ฯลฯ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะซื้อทัวร์จากเมืองไทยไป ไปเป็นกลุ่มทัวร์ เที่ยวระยะสั้นๆ ขึ้นรถทัวร์ นอนโรงแรม
    • กลุ่ม backpacker เที่ยวแบบอิสระ โดยเดินทางไปกับเพื่อนไม่กี่คน กลุ่มนี้มักจะเที่ยวแบบลุยๆนิดหน่อย เช่น ไปตามสถานที่ต่างๆด้วยตนเอง เช่นนั่งรถไฟ รถบัสอินเดีย นอน guesthouse และกินอาหารแบบง่ายๆข้างทาง

      แม่น้ำคงคา ในเมืองพาราณสี หนึ่งในสถานที่ที่คนไทยมักจะไปเยี่ยมชม

  2. ถ้าคิดตามเล่นๆจะเห็นว่าปัญหาสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มก็จะไม่เหมือนกัน เช่น นักท่องเที่ยวที่เที่ยวแบบ backpacker เที่ยวเอง กินอาหารข้างทางบ่อยๆ จะมีความเสี่ยงที่จะท้องเสียมากกว่ากลุ่มที่เที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์และกินอาหารอย่างระมัดระวัง หรือถ้าใครจะไปเลห์ ลาดักส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูงมาก อาจจะเกิดปัญหา Acute mountain sickness ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นจะไม่เกิด
  3. เมื่อถึงตรงนี้ ลองเดาดูไหมครับว่า ผลการวิจัยข้างต้นที่บอกว่าคนไทยที่ไปเที่ยวอินเดียและไม่สบาย ส่วนใหญ่จะเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ส่วนท้องเสียไม่ได้พบมากอย่างที่คิดพบเป็นอันดับ 4 เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มไหน คำตอบคือ ….. กลุ่มที่ไปไหว้พระที่สังเวชนียสถานครับ …. ก่อนหน้านี้ เราเข้าใจมาเสมอว่า โรคที่พบบ่อยที่สุดในคนที่ไปอินเดียคือท้องเสีย ซึ่งตำราต่างประเทศทุกเล่มจะเขียนตรงกัน โดยผลการศึกษาในอดีตระบุว่า นักท่องเที่ยวกว่า 50-80% ที่ไปอินเดีย จะท้องเสีย แต่ตัวเลขข้อมูลพวกนั้นเป็นการศึกษาในนักท่องเที่ยวตะวันตก เราไม่มีตัวเลขมาก่อนเลยว่า แล้วคนไทยล่ะ ถ้าไปอินเดียจะท้องเสียถึง 50-80% หรือไม่
  4. ดังนั้นในปี 2557-2558 หน่วยเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง จึงได้ทำการวิจัย โดยเก็บรวบรวมคนไทยมากกว่า 1200 คนที่ไปเที่ยวอินเดีย โดยส่วนใหญ่ >90% เป็นคนที่ไปไหว้พระที่สังเวชนียสถาน ไปเป็นกลุ่มทัวร์ โดยตามว่าเมื่อเที่ยวเสร็จสิ้นแล้ว มีคนไทยไม่กี่คนที่ไม่สบาย และมีปัญหาท้องเสียบ่อยที่สุดจริงไหม ซึ่งผลการวิจัยที่ได้มาทำให้เราแปลกใจพอสมควร เพราะเรากลับพบว่าคนไทยมีอาการของระบบทางเดินหายใจมากกว่า มีคนไทยเพียง 10% ที่มีอาการท้องเสียจากการไปเที่ยวที่อินเดีย
  5. ซึ่งเมื่อมาพิจารณาในรายละเอียด ก็พอหาคำอธิบายได้ เนื่องจากคนไทยที่ไปไหว้พระแสวงบุญจะไปเป็นกลุ่มนั่งรถบัสกันไปคันเดียวกัน กินพร้อมๆกัน อยู่โรงแรมเดียวกัน จะเห็นว่าถ้ามีใครสักคนเป็นหวัด ไม่สบายขึ้นมาก็อาจแพร่เชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนี้มักจะต้องนั่งรถคันเดียวกันเป็นเวลานานหลายๆชั่วโมง เพราะมีการเดินทางระหว่างเมือง ส่วนเรื่องท้องเสียที่พบน้อยในกลุ่มนี้ น่าจะเนื่องมาจากอาหารการกินของกลุ่มนี้ มีการจัดเตรียมเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่กินในร้านอาหาร หรือในวัด บางทีมีแม่ครัวไทยทำให้ด้วย ไม่ค่อยได้กินอาหารข้างทาง หรืออาหารที่ไม่สะอาดทำให้เกิดท้องเสียน้อย
  6. นอกจากเรื่องอาการทางระบบทางเดินหายใจ ทางกล้ามเนื้อ ไข้ และท้องเสีย ในการวิจัยเรายังเจอปัญหาสุขภาพในคนไทยอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผื่นผิวหนัง หรือแม้แต่ถูกสุนัขกัดระหว่างท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาเหล่านี้บางครั้งเราก็ไม่คาดถึง แต่โชคดีหน่อยครับ แม้ว่าคนไทยกว่า 52% จะมีปัญหาสุขภาพอะไรบางอย่าง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ไม่รุนแรง หายเองได้ มีเพียง 6 % เท่านั้นที่ต้องพบแพทย์ระหว่างเดินทาง และมีน้อยกว่า 1% ที่ต้อง admit ในโรงพยาบาล
  7. โดยสรุปการวิจัยนี้ทำให้รู้ว่า ปัญหาสุขภาพของคนไทยที่ไปไหว้พระที่อินเดียพบบ่อยพอสมควร โดยกว่า 52% จะมีอาการไม่สบายอย่างหนึ่งอย่างใด และส่วนใหญ่เป็นอาการของระบบทางเดินทายใจ เช่นอาการหวัด เจ็บคอ ไอ ส่วนท้องเสียพบประมาณ 10% ดังนั้นข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์มากในการให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เช่น เวลานั่งรถไปเป็นเวลานาน ต้องระวังเรื่องสุขอนามัย ถ้ารู้สึกเป็นหวัด ไอ ต้องใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก ล้างมือบ่อยๆ ในกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนเดินทาง ส่วนเรื่องท้องเสีย พบได้เหมือนกัน แต่อาการมักไม่รุนแรงหายเองได้ อาจเตรียมตัวพกผงเกลือแร่ไปด้วย 

    คลินิกทีเมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย

  8. การวิจัยนี้เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่ทำในนักท่องเที่ยวไทยที่ไปอินเดีย อย่างไรก็ตามทุกงานวิจัยย่อมมีข้อจำกัด เช่น ผลการศึกษานี้จะไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มอื่นได้ เช่นถ้านักท่องเที่ยวเที่ยวแบบ backpack ไปในที่ต่างๆ กินอาหารข้างทาง และเที่ยวแบบลุยๆ อาจพบปัญหาท้องเสียมากกว่ากลุ่มนี้ก็ได้ คงต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน และเผลอๆถ้าไปเที่ยวนาน กินอาหารข้างทางบ่อยๆ อาจต้องฉีดวัคซีนไทฟอยด์ด้วย ส่วนถ้าจะไปเที่ยวเลห์ ลาดักส์อย่าลืมเตรียมตัวสำหรับปัญหา high altitude sickness ด้วย
  9. ดังนั้นในทางปฏิบัติเวลามีนักท่องเที่ยวมาพบแพทย์ที่คลินิกนักท่องเที่ยว ถามว่าไปอินเดียต้องเตรียมตัวอย่างไร และจะไม่สบายหรือไม่ แพทย์ต้องถามข้อมูลในรายละเอียดมากมาย ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง เที่ยวกันกี่คน นอนในที่พักแบบไหน จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง และอาหารการกินจะเป็นอย่างไร ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแพทย์ในการพิจารณาให้คำแนะนำและสั่งวัคซีนที่จำเป็นและเหมาะสมให้นักท่องเที่ยวแต่ละรายไป และนี่ก็เป็นเหตุผลประการหนึ่งว่าทำไมคลินิกนักท่องเที่ยวไม่มีการจัด package หรือบอกออกมาเลยว่าไปอินเดียต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง เพราะในบางรายไม่ต้องฉีดวัคซีนอะไรเลยก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวทุกคนต้องดูแลสุขภาพ สุขอนามัยทั่วไป ระวังเรื่องอาหารการกิน ทายากันยุงไม่ให้ยุงกัด ฯลฯ
  10. การศึกษาวิจัยเป็นอีกภารกิจหนึ่งในคลินิกนักท่องเที่ยวของเราครับ เนื่องจากเราเป็นสถาบันทางวิชาการ และเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง จำเป็นต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพื่อช่วยในการดูแลนักท่องเที่ยว ถ้าใครมาที่คลินิกนักท่องเที่ยว อาจพบแพทย์ประจำบ้าน และมีการเชิญให้เข้าร่วมโครงการวิจัยต่างๆบ้างครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาปัญหาสุขภาพในนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ เช่นตอนนี้มีการทำวิจัยเรื่อง ปัญหาสุขภาพของคนไทยที่จะเดินทางไปในที่สูง ซึ่งผลการวิจัยจะทำให้เรารู้ว่า คนไทยที่ไปเที่ยวที่สูงๆ จะเกิด Acute mountain sickness บ่อยแค่ไหน และรุนแรงหรือไม่ หรืออีกงานวิจัยหนึ่ง เราเก็บข้อมูลคนไทยที่ต้องกินยาป้องกันมาลาเรีย ก่อนไปแอฟริกา ผลการวิจัยจะทำให้เรารู้ว่าการกินยานั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด และมีผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เราและวงการแพทย์ได้มาก
  11. สำหรับผู้สนใจรายละเอียดของงานวิจัยเรื่องปัญหาสุขภาพของคนไทยที่ไปอินเดียนี้ สามารถเข้าไปอ่าน abstract และดู full paper ได้ที่ Journal of Travel Medicine 2017; 1-6. doi:10.1093/jtm/tax013

 

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>