โรคพิษสุนัขบ้ากับนักท่องเที่ยว

วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องโรคพิษสุนัขบ้ากับนักท่องเที่ยวกันครับ หลายคนอาจสงสัยว่าทั้ง 2 เรื่องมันมาเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันได้อย่างไร แต่ก่อนอื่นเราลองมาปูพื้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าก่อนครับ

1 โรคพิษสุนัขบ้า หรือที่คนไทยเรียกว่าโรคหมาบ้า หรือโรคกลัวน้ำนั้นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งคนสามารถติดโรคนี้ได้จากการที่ถูกสุนัข,แมว ที่มีเชื้อนี้กัด ข่วน หรือเลีย ซึ่งเมื่อสัมผัสเชื้อแล้ว ต้องรีบล้างแผล และไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากและต้องย้ำไว้เสมอ เพราะถ้าปล่อยไว้ และเกิดอาการของโรคขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะตายทุกราย  ไม่สามารถรักษาได้

2 นอกจากหมา แมว แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆสามารถนำเชื้อนี้ได้เช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิงหรือค้างคาว เมื่อมีการสัมผัสโรคเกิดขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ สำหรับการสังเกตอาการของสัตว์แล้วคิดว่า สัตว์ดูดี ไม่น่าจะเป็นบ้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง จริงอยู่ครับ สัตว์ที่มีเชื้อส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ดุร้าย อาละวาด หรือเซื่องซึม  แต่มีสัตว์บางส่วนดูลักษณะภายนอกก็ปกติ แต่มีเชื้ออยู่ ดังนั้นการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ก็เชื่อไม่ได้ 100 % ครับ ส่วนการกักขังสัตว์ไว้ 7-10 วันเพื่อสังเกตอาการ อาจทำได้  แต่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาก่อน และแพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้ก่อนเลย เราจะไม่มีการกักขังสัตว์ไว้ก่อน ไว้สัตว์ตายเมื่อไรค่อยไปฉีดยา ไม่ได้นะครับ

3 การที่หมาหรือแมวได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน 100% นะครับว่า สัตว์จะปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น เคยฉีดมานานหรือยัง ฉีดทุกปีหรือไม่ และพาไปฉีดที่ไหน มีข้อควรระวังคือวัคซีนที่ใช้ในสัตว์ประสิทธิภาพไม่สู้ดีนักเมื่อเทียบกับวัคซีนที่ให้ในคน จึงต้องมีการฉีดกระตุ้นทุกๆปี เราจะยึดประวัติการได้วัคซีนในสัตว์อย่างเดียวมาพิจารณาไม่ได้

4. เมื่อถูกสัตว์กัด ข่วนหรือเลียแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ ถ้าไม่มีใช้น้ำสะอาดและสบู่ก็ได้ ต้องล้างเยอะๆนะครับ ล้างผ่านน้ำที่ไหลอยู่จะดีมาก เชื้อโรคจะถูกชะและทำลายไปได้อย่างมาก หลังจากนั้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษานะครับ

5 แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนให้ แต่ไม่ต้องกลัวนะครับ ปัจจุบันวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ต้องฉีดหลายๆเข็มรอบสะดือแล้ว และผลข้างเคียงก็น้อยลงมาก แต่อย่างไรก็ตามในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน จำเป็นต้องฉีด 5 เข็ม ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือฉีดในวันที่ 0,3,7,14,28  และถ้าแผลที่ถูกกัดหรือข่วนมีความรุนแรง เช่นลึกถึงชั้น dermis หรือมีเลือดออก หรืออยู่ใกล้อวัยวะที่มีเส้นประสาทมาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับวัคซีน ร่วมกับสารอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า  Rabies Immunoglobulin (RIG) ซึ่งเป็น antibody จากคนหรือม้า จะให้วัคซีนอย่างเดียวไม่ได้

6 ตรงนี้จะเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา เนื่องจาก Rabies Immunoglobulin เป็นสารพิเศษ มีราคาแพง และมีอายุสั้น ดังนั้นในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะไม่มี Rabies Immunoglobulin เก็บไว้ ผู้ป่วยที่ถูกหมากัดโดยเฉพาะในต่างจังหวัดส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์เพื่อรับยาดังกล่าว ในต่างประเทศจะยิ่งเป็นปัญหาครับ  Rabies Immunoglobulin จะยิ่งหายากขึ้น ลองนึกดูนะครับ ถ้าเราไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาแล้วถูกหมากัด จะทำอย่างไร จะไปหาหมอที่ไหน และยิ่งจะไปหา Rabies Immunoglobulin ที่ไหน ทำให้ในหลายๆประเทศมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการเดินทาง หรือเป็นการฉีดก่อนการถูกหมากัดนั่นเอง ซึ่งต้องฉีด 3 เข็มคือ ฉีดในวันที่ 0, 3, 21 หรือ 28 ข้อดีที่สำคัญคือ ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ส่วนหนึ่งแล้ว และเมื่อถูกหมากัดจริงๆ ต้องไปฉีดกระตุ้นอีก 2 เข็มในวันที่ 0 และวันที่ 3 ไม่ต้องฉีดถึง 5 เข็ม และไม่ต้องฉีด Rabies Immunoglobulin ด้วย ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ได้หลังการฉีดกระตุ้นจะขึ้นสูง และป้องกันโรคได้ดีกว่า

ก็แปลว่าเราสมควรจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้นักท่องเที่ยวทุกรายเลยใช่ไหม ก็คงไม่ใช่ครับ มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา ลองมาดูตัวอย่างกรณีต่อไปนี้กันครับ

ตัวอย่างที่ 1

นักท่องเที่ยว backpacker ชาวไทยต้องการไปเที่ยวในประเทศอินเดีย และเนปาลเป็นเวลา 2 เดือน ในกรณีนี้ถ้าถามผม ผมจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปล่วงหน้าเลย 3 เข็มก่อนเดินทาง หลายคนอาจจะบอกว่า ในช่วง 2 เดือนที่ไปเที่ยว อาจจะไม่ถูกกัดก็ได้นี่ ไว้ถูกกัดค่อยฉีดได้ไหม ก็ได้ครับ แต่เนื่องจากประเทศอินเดียและเนปาลเป็นประเทศที่มีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าอยู่สูงมาก และการเข้าถึงวัคซีนและ Rabies Immunoglobulin ในสองประเทศนี้ยังเป้นปัญหาอยู่มาก ดังนั้นการฉีดวัคซีนไปก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ตัวอย่างที่ 2

นักท่องเที่ยว backpacker ต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย ลาว กัมพูชาเป็นเวลา 3 เดือน จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ในกรณีนี้ก็ต้องถามว่าความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวคนนี้จะถูกหมากัดระหว่างเดินทางเที่ยวแถบบ้านเรามากไหม เที่ยว 3 เดือน โอกาสถูกหมากัดสักกี่เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขที่ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้ทำการศึกษาที่ถนนข้าวสารพบว่าโอกาสเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวแบบ backpacker จะถูกหมาหรือแมวกัดเท่ากับ 0.69% ต่อเดือน ถ้าเที่ยว 3 เดือนก็มีโอกาสเสี่ยงประมาณ 2.1% ซึ่งความเสี่ยงตรงนี้คงต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลอีกหลายอย่าง เช่น กิจกรรมที่จะทำ พื้นที่ที่จะไป ทัศนคติของนักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งในกรณีนี้ โดยมากผมจะแนะนำให้ฉีดครับ

ตัวอย่างที่ 3

นักท่องเที่ยวชาวไทยจะไปเที่ยวในประเทศอเมริกาและยุโรปเป็นเวลา 3 เดือน ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ในกรณีอาจไม่จำเป็นเท่าไร เพราะในประเทศตะวันตก โอกาสเสี่ยงที่จะติดโรคพิษสุนัขบ้ามีน้อยมาก และสัตว์นำโรคส่วนใหญ่ไม่ใช่หมาหรือแมว อย่างไรก็ตามก็ต้องย้ำกับนักท่องเที่ยวนะครับว่า ถ้าถูกสัตว์กัดหรือข่วนต้องไปพบแพทย์เสมอ โดยเฉพาะพวกค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญเลยทีเดียว ซึ่งบางทีคนไทยอาจจะไม่ได้ระวังมากนัก

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>