ระหว่างเฝ้าสังเกตุอาการ 14 วัน เกิดมีไข้ขึ้น ทำอย่างไรดี

ช่วงนี้มีคนไทยที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และอยู่ในช่วงเฝ้าดูอาการ 14 วัน แล้วเกิดมีไข้ขึ้น มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลต่างๆมากขึ้น ส่วนใหญ่จะกังวลมากว่าตัวเองจะเป็น COVID 19 หรือเปล่า จะทำอย่างไรดี ต้อง admit ไหม คนที่บ้านที่อยู่ด้วยกันจะติดไหม และต้องทำอย่างไรดี 

วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องนี้กัน ลองสมมุติสถานการณ์ตามนี้ครับ

ถ้าคุณเพิ่งเที่ยวกลับจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 3 วันก่อน แล้วระหว่างพักอยู่บ้านเกิดอาการไอ และรู้สึกมีไข้ขึ้น จะทำอย่างไรดี 

มีคำแนะนำอย่างนี้ครับ 

1. อย่าเพิ่งตกใจมากเกินไปครับ ตั้งสติให้ดี

การมีไข้ขึ้นไม่ได้แปลว่าเราจะเป็น COVID 19 เสมอไปครับ อาจเป็นโรคอื่นก็ได้ และถึงเป็น COVID 19 จริงเราอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ได้  เพราะส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อนี้อาการจะไม่มาก มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง 

2.ประเมินอาการตนเองเบื้องต้น

อย่างแรกลองวัดไข้ดูครับ ถ้าวัดไข้ได้ ≥37.5 ถือว่ามีไข้จริง และถ้าวัดได้น้อยกว่านั้นก็ให้จดและจำไว้ หลังจากนั้นดูอาการตนเองว่ามีอาการของระบบทางเดินหายใจหรือไม่ เช่นมีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หรือเหนื่อยหอบไหม  ถ้ามีการอาการดังกล่าวถือว่าสำคัญ น่าจะเข้าข่ายผู้ป่วยต้องสอบสวนโรค หรือทางภาษาหมอ เรียกว่า  PUI (Patient under investigation) จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลครับ 

ตรงนี้ก็ยังไม่ต้องตกอกตกใจมากเกินไปครับ การมีไข้ มีอาการของระบบทางเดินหายใจหลังไปเที่ยวกลับมาไม่ได้แปลว่าเราจะเป็น COVID19 เสมอไป อาจะเป็นหวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ก็ได้ แต่ที่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะเราตรวจให้รู้ว่าเป็นอะไรแน่จะได้รักษา เฝ้าระวัง และควบคุมการระบาดได้ 

3. เตรียมตัวเดินทางไปโรงพยาบาล 

ก่อนจะไปโรงพยาบาล อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เตรียมของใช้ส่วนตัวไปด้วยก็ดีครับเผื่อจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล การเดินทางถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้การขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ควรไปรถแท๊กซี่ หรือรถส่วนตัว และควรเปิดกระจกรถลง 

4. เมื่อไปถึง ให้สังเกตุป้ายจุดตรวจ/คัดกรองเฉพาะของโรงพยาบาล

ตรงนี้ก็สำคัญครับ  ปัจจุบันแทบทุกโรงพยาบาล จะมีการแยกพื้นที่เฉพาะเพื่อตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย COVID 19 เพื่อไม่ให้ปะปนกับคนไข้ทั่วไป เมื่อไปถึงแล้วให้ไปที่จุดดังกล่าว แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ที่เพิ่งกลับจากประเทศเสี่ยง และมีอาการไม่สบายจะมาตรวจ หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของโรงพยาบาลนั้นๆครับ

ตัวอย่างจุดคัดกรองโรค COVID 19

ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วย PUI ที่โรงพยาบาล

ขั้นตอนตรงนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละโรงพยาบาล ในที่นี้จะขอเล่าขั้นตอนที่รพ.เวชศาสตร์เขตร้อนให้ฟังครับ แต่เชื่อว่าในทุกโรงพยาบาลน่าจะมีขั้นตอนคล้ายๆกัน จะแตกต่างบ้างตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

  • แพทย์และพยาบาลจะทำการคัดกรองเบื้องต้นว่า เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยที่ต้องสอบสวนโรคหรือไม่ (PUI) ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ แพทย์จะทำการตรวจรักษาตามปกติ และถ้ากลับบ้านได้ จะให้คำแนะนำต่อให้ไปเฝ้าสังเกตุอาการที่บ้านต่อ จนครบ 14 วัน 
  • ถ้าเข้าเกณฑ์ PUI ผู้ป่วยจะถูกแยกขึ้นลิฟท์เฉพาะ เพื่อนำไปที่ห้องความดันเป็นลบ (Negative pressure room) เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจ 
  • ในห้องความดันลบ แพทย์/พยาบาลจะใส่ชุดป้องกันเต็มที่ เพื่อตรวจร่างกาย และแพทย์จะใช้ไม่พันสำลี 2 ไม้ ใส่เข้าไปในจมูก และในคอ เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจ คือสารคัดหลั่งบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้จะมีการเอ๊กซเรย์ปอดเพื่อดูว่ามีภาวะปอดอักเสบหรือไม่
  • หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องพักสังเกตุอาการ และรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในห้องแยกโรค ซึ่งเป็นห้องพิเศษเดี่ยวของโรงพยาบาล ในฐานะคนไข้ใน (admit) จนกว่าผล lab จะออก ซึ่งการส่ง Lab นี้เป็นขั้นตอนทางราชการ โดยจะส่งไปที่ห้องปฏิบัติการอ้างอิง โดยมีรหัสเฉพาะ  ซึ่งการตรวจ lab COVID19 นี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น (ถ้าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุข) 
  • ระหว่างที่พักอยู่ในห้องแยกโรค จะได้รับการดูแลเหมือนคนไข้ในครับ แต่ห้ามเยี่ยม เนื่องจากต้องป้องกันการติดเชื้อ 
  • ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะได้ผลภายในเวลา 12ชั่วโมง หรืออาจเร็วกว่านั้น ถ้าบังเอิญคนไข้มาโรงพยาบาลและสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจ ตรงรอบการทำ lab พอดี  ในทางกลับกันผล lab อาจจะได้ช้ากว่านั้น ถ้ามีคนไข้เป็นจำนวนมาก 
  • สามารถกลับบ้านได้ ถ้าผล lab COVID 19 เป็นลบ และแพทย์อนุญาตให้กลับ  ส่วนใหญ่จะกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังนอนรพ.
  • ถ้าผล Lab COVID19 เป็นบวก จะต้องอยู๋รักษาที่โรงพยาบาลจนกว่าผลการตรวจจะเป็นลบ 2 ครั้ง ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิด รวมถึงคนในครอบครัว จะเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้การดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

หมายเหตุ

  1. กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการตรวจ lab COVID19  ส่วนค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ สามารถเบิกได้ตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน
  2. ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) แพทย์จะไม่ส่งตรวจ COVID19 ให้ ถ้าผู้ป่วยยืนยันจะขอตรวจ จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และในกรณีนี้ต้องจ่ายเงินค่าตรวจเองครับ 
  3. แม้แพทย์ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ COVID 19 ยังต้องเฝ้าระวังตัวเองต่อจนครบ 14 วัน ตามคำแนะนำด้านล่างครับ และถ้ามีไข้ใหม่ จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการสอบสวนโรคเหมือนเดิม

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>