ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการป้องกันโรคแพ้ความสูง #2 (High altitude sickness misconception 2)

วันนี้เรามาว่ากันต่อถึง ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยในเรื่อง High altitude sickness ครับ ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก แนะนำให้กลับไปอ่านก่อนครับ ที่นี่  

ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยต่อมาคือ 

3. “เดึ๋ยวก่อนไปที่สูง หรือขึ้นเขา แวะซื้อออกซิเจนกระป๋องไปก็พอแล้ว มันช่วยได้มาก”

ข้อนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อย ใครเคยไปที่สูงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเขาสูงๆในเมืองจีน เช่น ภูเขามังกรหยก หรือแถบทิเบต เลห์ คุซโก ฯลฯ เรามักจะเห็นมีคนขายออกซิเจนกระป๋อง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกระป๋องสเปรย์ มีขนาดแตกต่างกันไป ซึ่งมีน้ำหนักเบามาก ตรงฝาก็จะมีปุ่มกด และมักจะมีพลาสติกคล้ายๆกรวยให้เอาหน้าไปแนบ เวลาจะใช้ เมื่อพอกดปุ่ม จะมีเสียงฟืดๆ และจะมีออกซิเจนออกมาคล้ายเวลาเราใช้สเปรย์ ออกซิเจนแบบนี้นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกันมาก เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าจริงๆแล้วใช้ได้ผลหรือเปล่า

ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับ ในทางการแพทย์ Oxygen เป็นสิ่งสำคัญ และใช้รักษาอาการจากโรคแพ้ที่สูงได้ เพราะโรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ดังนั้นการให้ออกซิเจนเข้าไปก็ย่อมช่วยได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ออกซิเจนกระป๋องที่เราซื้อๆกัน มีออกซิเจนจริงๆเท่าไร ส่วนใหญ่แล้วข้างกระป๋องจะบอกว่ามี 5-8 ลิตร ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่ามี Oxygen 100% จริงๆหรือเปล่า (หรือเป็นแค่อากาศอัด ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนจริงๆน้อยกว่านั้น) สมมุติว่าเป็น oxygen จริงๆ 8 ลิตร เวลาเรากด 1 ฟืดจะได้ออกซิเจนสักเท่าไร และจะพอกับความต้องการของร่างกายไหม เป็นประเด็นที่ต้องมาดูกันต่อครับ

ในทางการแพทย์แล้ว เวลาใครมีอาการ high altitude sickness แบบน้อยๆ เช่น Acute mountain sickness การรักษาอย่างหนึ่ง คือการให้ออกซิเจนเสริมเข้าไป แพทย์จะให้ออกซิเจนทางสายยางเข้าที่จมูก โดยปล่อยออกซิเจน 100% ปริมาณ 2 ลิตรต่อนาที เป็นเวลาสัก 10-20 นาที  อาการคนไข้ก็มักจะดีขึ้น ลองคำนวนดูไหมครับว่าต้องใช้ออกซิเจนเท่าไร 2 ลิตรต่อนาที เปิดตลอดเป็นเวลา 10-20 นาที นั่นคือต้องใช้ออกซิเจนประมาณ 20-40 ลิตร ลองย้อนกลับมาดูกันครับว่า ออกซิเจนกระป๋องที่เราคุยกัน มีออกซิเจนเท่าไร มีแค่ 8 ลิตร ซึ่งไม่พอแน่นอน ถ้าจะใช้รักษาจริงๆต้องให้หลายกระป๋อง ไม่ใช่แค่สูดแค่ฟืด 2 ฟืด เพราะปริมาณออกซิเจนที่ได้จะน้อยมาก

อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับครับว่า นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเวลาใช้ออกซิเจนกระป๋องแล้วจะรู้สึกดีขึ้น สบายขึ้น มีแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆก็ไม่แปลกครับ อย่างน้อยเราก็ได้ออกซิเจนเข้าไปจริงๆ และเรายังอุ่นใจที่มีออกซิเจนช่วยเราอยู่ใกล้ๆ สภาพจิตใจที่ดีสามารถช่วยร่างกายได้จริงๆ ดังนั้นไม่มีปัญหาครับ ใครอยากซื้อหรือใช้ออกซิเจนกระป๋องสามารถใช้ได้ตามสะดวกครับ แต่อย่าละเลยคำแนะนำอื่นๆ ไม่ใช่คิดว่า ซื้อออกซิเจนกระป๋องมาแล้วก็ลุยได้เลย เดินเอาเดินเอา ไม่ดูร่างกายตนเอง คิดว่ามีอะไรก็สูดออกซิเจนเอา อย่างนั้นอันตรายครับ

ออกซิเจนกระป๋อง ซึ่งมีขายทั่วไปในพื้นที่สูง

4. “โรคแพ้ความสูงไม่ขึ้นอยู่กับความฟิตของร่างกาย นักกีฬาแข็งแรงๆยังเป็นได้ เราไม่ต้องเตรียมฟิตร่างกายก็ได้ เตรียมไปก็ไม่มีประโยชน์”

ความเชื่อข้อนี้ มีส่วนถูกอยู่บ้างครับในประโยคแรกคือ การที่ใครสักคนจะเป็นหรือไม่เป็นโรคแพ้ความสูง ไม่ได้ขึ้นกับความฟิตของร่างกาย หรืออายุ หรือเพศ ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการแพ้ความสูงที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไวหน่อย เริ่มมีอาการที่ความสูงแค่ 3000 เมตร อาจจะเริ่มมีอาการแล้ว พอขึ้นไปถึง 3500 เมตรอาจมีอาการมากก็ได้  ในทางตรงกันข้าม บางคนไม่มีอาการอะไรเลย ไปที่  3500 เมตรยังเฉยๆก็ได้ แต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งทำนายได้ยาก

แปลว่า นักกีฬาที่แข็งแรงๆบางคนเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนๆที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย สมมุติทุกคนนั่งเครื่องบินไปเที่ยวเลห์ วันแรกที่ไปถึงนักกีฬาอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง รู้สึกเหนื่อย แต่เพื่อนร่วมทางอื่นๆกลับสบายดี ไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ จะเห็นได้ว่าความแข็งแรงของร่างกายไม่ได้ทำนายว่าใครสักคนจะเกิดอาการแพ้ความสูงหรือไม่ 

ความฟิตของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญในการ Trekking

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่า ในเมื่อความฟิตของร่างกายไม่เกี่ยวกับอาการแพ้ความสูง ดังนั้นเราไม่ต้องฟิตร่างกายก็ได้ ความเชื่อนี้ผิดครับ เพราะความฟิตของร่างกาย (Physical fitness) เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะถ้าจะไป trekking ในพื้นที่สูง ลองนึกอย่างนี้ครับ สมมุตินาย A ปกติไม่เคยออกกำลังกายเลย ไม่ค่อยได้วิ่ง เดินไกลๆสัก 3-4 กิโลเมตรก็เหนื่อยมากแล้ว วันดีคืนดี นาย A อยากไป trekking ที่เนปาล จะไป Poon Hill  การไป trek นี้ต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน ช่วงแรกๆไม่ได้สูงมาก เช่น วันที่ต้องเดินจาก Tikhedhunga (1495 เมตร) ไปยัง Ghorepani (2850 เมตร) ระยะทางประมาณ 12 กิโล ใช้เวลาเดิน ประมาณ 7-8ชม.

ลองนึกดูนะครับว่านาย A จะเดินไหวไหม เขาเดินทางราบ 3-4 กม.ก็เหนื่อยแล้ว จะเดิน 12ก.ม.ทางขึ้นเขาจะไหวไหม นี่ขนาดความสูงขนาดนี้เรื่อง high altitude sickness อาจจะยังไม่เป็นปัญหามาก แต่ความฟิตของร่างกายสำคัญมาก นาย A ควรต้องเตรียมออกกำลังกายให้พร้อมก่อนไป ไม่ใช่คิดว่า โรคแพ้ความสูงไม่เกี่ยวกับความฟิต ดังนั้นเลยไม่ต้องเตรียมฟิตร่างกาย ความเชื่อนี้ผิดอย่างมากครับ เราควรเตรียมร่างกายให้ดีก่อนเสมอ

5. “เราเคยไปที่สูงมาแล้ว ไม่เห็นมีอาการอะไรเลย ครั้งนี้จะไปที่สูงอีก ก็คงไม่เป็นไร ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากก็ได้”

จริงอยู่ครับว่า ประสบการณ์ที่เคยไปเที่ยวในพื้นที่สูงในครั้งก่อน จะช่วยในการทำนายได้ว่าใครจะเกิดอาการหรือไม่ หมายความว่า ถ้าครั้งก่อนเคยไปที่ความสูงระดับนั้นมาแล้ว แล้วไม่มีปัญหาใดๆ  ถ้าครั้งนี้ไปในที่สูงระดับเดียวกัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

มีข้อต้องระวังครับในความเชื่อนี้ นั่นคือมีปัจจัยอีกมากที่อาจทำให้เกิดหรือไม่เกิดอาการแพ้ความสูง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับความสูงอย่างเดียว  เช่นใครบางคนเคยไปเดิน trekking 4 วัน ที่ความสูงประมาณ 3500 เมตรมาแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรเลย เขาอาจจะคิดว่าครั้งหน้าไปที่ความสูงใกล้ๆกันก็คงไม่เป็นไรมั้ง จริงๆจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ครับ

สมมุติครั้งนี้เขาจะไปเที่ยวมาชูปิกชู จะนั่งเครื่องบินจากลิม่า ไปคุซโก เขาดูแผนการเดินทางแล้ว เห็นว่าคุซโกสูงประมาณ 3500 เมตร เขาคิดว่าสบาย ไม่มีปัญหา เพราะเขาเคยผ่านมาแล้ว ไม่เป็นไร ครั้งนี้ก็คงไม่เป็นไรหรอก ความเชื่อนี้ผิดครับ เพราะการเดินทาง 2 ครั้งไม่เหมือนกัน ครั้งแรกเขาค่อยๆเดินไป 4 วัน ไปที่ 3500 เมตร ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวได้ แต่ครั้งนี้เขานั่งเครื่องบิน ความสูงจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จากระดับน้ำทะเลมาที่ 3500 มตร ในเวลาเพียงชั่วโมงครึ่ง เขาอาจจะมีอาการมากก็ได้  

ดังนั้นไม่มี Trip ไหนเหมือนกัน 100%ครับ การไปในที่สูงระดับใดมาแล้ว ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่เกิด high altitude sickness ในระดับความสูงเดียวกัน เพราะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เดินทางแบบไหน ขึ้นเร็วหรือไม่ เดินไปหรือนั่งรถ/เครื่องบินไป ร่างกายแข็งแรงดีไหม ดังนั้นไม่ควรประมาทครับ ควรศึกษาข้อมูลและเตรียมสภาพร่างกายให้ดีก่อนการเดินทางทุกครั้ง จะได้เที่ยวได้อย่างปลอดภัย

 
 
เรื่องน่ารู้อื่นๆเกี่ยวกับ โรคแพ้ที่สูง (High Altitude sickness)

Leave a Reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>